กระแสการใช้งานโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้ากำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนซึ่งประชาชนทั่วไปต่างก็มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายราคาสูงจากค่าไฟต่อหน่วยที่เพิ่มมากซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA คือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มองเห็นแนวโน้มความต้องการดังกล่าว และมีการพัฒนารูปแบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์กับที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ SENA ถึงแนวโน้มการใช้งานโซลาร์ และแผนการพัฒนาในระยะต่อไป
เพิ่มประสิทธิภาพโซลาร์
ผศ.ดร.เกษรา ระบุว่า ปี 2567 เสนาฯ มีเป้าหมายการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ที่มุ่งเน้นการหานวัตกรรมใหม่ ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่น ศึกษาในด้านประสิทธิภาพ และชนิดของแผงโซลาร์รุ่นใหม่ พบว่า ปัจจุบันมีความหลากหลายต่อการติดตั้ง สำหรับอาคารประเภทต่างๆ มากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์แปลงไฟ (Inverter) ที่จากเดิมมีขนาดใหญ่ ก็มีสเกลลดลง ทำให้ตอบสนองต่อการใช้งานที่ประสิทธิภาพสูง รวมถึงราคาที่ลดลง
ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาส่งเสริมการทำตลาดอสังหาฯ ในอนาคต ที่มีทิศทางและแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นของตลาดพลังงานสะอาด ทั้งในรูปแบบติดตั้งในที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น จากต้นทุนค่าพลังงานต่อหน่วยที่ลดลง รวมถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
“เสนา” เตรียมแผนศึกษาโซลาร์เจนใหม่ติดอาคารทุกรูปแบบ
“เสนาฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นทดลองศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ในการนำแผงโซลาร์แบบงอได้ และแผงโซลาร์ที่ผลิตพลังงานจากแสงนีออน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ติดตั้งกับตึกและอาคารต่างๆ ที่มีพื้นในการติดตั้งจำกัด ทำให้แผงโซลาร์สามารถเป็นส่วนประกอบของการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น มีน้ำหนักที่เบา และไม่จำเป็นต้องติดบนหลังคาเพียงอย่างเดียว ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เสนาฯ ให้ความสนใจและต้องเร่งศึกษา เนื่องจากในอนาคตอาคารขนาดใหญ่มีเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการใช้พลังงานของอาคาร”
นอกจากประชาชนต้องการติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ภาครัฐยังให้ความสำคัญในเรื่องของนโยบาย หรือการสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยให้ประชาชนสามารถขายไฟคืนรัฐในนโยบายการรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนราคา 2.20 บาท /หน่วย ซึ่งมองว่ายังไม่เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากเท่าที่ควร หากเพิ่มราคารับซื้อที่แพงกว่านี้ หรือ 3 บาท/หน่วย จะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น
บ้านพลังงานเป็นศูนย์-คอนโด Low Carbon
การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้มีการนำโซลูชั่นมาพัฒนาธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯได้ก้าวข้ามบ้านโซลาร์สู่การเป็นบ้านประหยัดพลังงาน หรือการทำกรีนโซลูชั่นเพิ่ม ซึ่งเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สู่การเป็นบ้านพลังงานเป็นศูนย์ หรือ Zero Energy House (ZEH) และคอนโด Low Carbon โดยนำวิธีคิดต่างๆ มาผสมผสาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานและสอดรับกับภูมิอากาศของประเทศ ที่ใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง และสุขภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการให้บริการ EV Ready หรือการติดตั้งเครื่องชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า (EV Charger) เพื่อรองรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าโครงการต่างๆ ของเสนาฯ โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบ 3 ขั้นตอน ดังนี้
“เสนา” เตรียมแผนศึกษาโซลาร์เจนใหม่ติดอาคารทุกรูปแบบ
- Active Design การออกแบบอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน โดยการนำเทคโนโลยี
- หรืออุปกรณ์ทันสมัยเข้ามาช่วยในการออกแบบ เช่น เซนเซอร์ควบคุมระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง, การใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน
- Passive design การออกแบบอาคารให้มีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ทิศทางลม และแสงแดด เป็นต้น
- การมีระบบผลิตพลังงานใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน เช่น การนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) มาสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ภายในบ้านให้สอดคล้องกับสภาพอากาศของเมืองไทย และการอยู่อาศัยภายในบ้าน ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสมแต่ละฤดูกาล ผสมผสานการใช้พลังงานที่ใช้ได้เองอย่างมีประสิทธิผล
ผศ.ดร.เกษรา ระบุอีกว่า ปัจจุบันเสนาได้ทำการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกค้า ทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม กว่า 1,000 หลัง คิดเป็นการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 100 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าปีนี้จะติดตั้งโซลาร์ สำหรับกลุ่ม B2C จำนวน 1,800 หลัง ปัจจุบันมีโรงผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 2 แห่ง คือ จ.สระบุรี และ จ.นครปฐม มีกำลังการผลิตไฟฟ้า รวมขนาดการติดตั้งอยู่ที่ 46.5 เมกะวัตต์ โดยปีนี้ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 20 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เสนาพยายามศึกษาและพัฒนาไม่ใช่เพียงแค่การติดตั้งโซลาร์ แต่เสนาต้องการทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ชีวิตแบบ Sustainability Way Long life เพื่อการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน และทุกคนเข้าถึงบ้านประหยัดพลังงาน ที่ไม่ต้องจ่ายแพงขึ้น โดยเสนาฯ ได้คิดค้นนวัตรกรรม บริหารต้นทุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่สมดุล (Compromise) ทั้งในด้านการออกแบบ การเลือกวัสดุอุปกรณ์การติดตั้ง และเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ให้บ้านประหยัดพลังงานได้ เพื่อคนทุกกลุ่ม แม้จะเป็นความท้าท้ายของการพัฒนาโครงการก็ตาม เพื่อปิดโจทย์ความเชื่อว่า “การรักษ์โลก ต้องจ่ายแพงขึ้น” สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราได้พยายามคิดโซลูชั่นต่างๆ เพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยรักษ์โลกอย่างแท้จริง
Source : ฐานเศรษฐกิจ