ยักษ์เอกชนแห่ใช้พลังงานทดแทนลดต้นทุนค่าไฟ “ศรีตรัง-CPF-WHA-S&P” เดินหน้าขยายลงทุน “โซลาร์รูฟ” เคแบงก์-SCB อัดแคมเปญดอกเบี้ยหนุนสินเชื่อธุรกิจ-บ้านติดตั้ง “solar roof” ชี้ประหยัดได้กว่า 60% พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ net zero
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาคเอกชนโรงงานและภาคธุรกิจ ตื่นตัวติดตั้งแผงโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานมากถึง 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากคุ้มค่าต่อการลงทุนที่ต้องใช้ไฟตอนกลางวัน ซึ่งโซลาร์รูฟท็อปช่วยประหยัดค่าไฟได้ 3-4 บาทต่อหน่วย ล่าสุดรัฐก็มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือ หากโรงงานมีขนาดหลังคาใหญ่ก็จะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์ได้คุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น
จากที่ราคา LNG ปรับสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า กกพ.จึงประกาศรับซื้อไฟฟ้าคืน โดยโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์ต้องการขายไฟส่วนที่เหลือใช้ หรือส่วนที่เก็บไว้ช่วงออฟพีกคืนกลับระบบของ 3 การไฟฟ้า เพียงแต่ระดับราคารับซื้ออาจไม่สูง ซึ่งรัฐต้องบริหารจัดการต่อภาระต้นทุน ขณะที่ภาคประชาชนก็ได้รับการส่งเสริมตาม “โครงการโซลาร์ประชาชน” โดยปี 2562-2564 มีผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟรวม 1,290 ราย กำลังการผลิตรวม 7.1 MW
เอกชนแห่ติดโซลาร์รูฟ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่โรงงานเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดแผงโซลาร์รูฟท็อป เป็นส่วนที่ช่วยลดต้นทุนได้ เพราะตอนนี้ทั้งราคาและคุณภาพของแผงโซลาร์ก็ดีขึ้น ธนาคารหลายแห่งก็ให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการลงทุนในส่วนนี้ เชื่อว่าหากภาครัฐมีการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงาน green ก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ
นายภาณุพงศ์ สิรโยภาส ผู้จัดการกลุ่มฝ่ายความยั่งยืนองค์กร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน และโรงงานที่มุกดาหารก็ทำโซลาร์โฟลตติ้ง อีกทั้งพยายามใช้พลังงานจากไฟฟ้าชีวมวล (ไบโอแมส) ร่วมคู่ขนาน ทำให้ที่ผ่านมาซื้อไฟจากภายนอกลดลง และมีแผนจะขยายลงทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานอื่น ๆ พร้อมกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกนำพลังงานสะอาดมาชดเชย ซึ่งหลายบริษัทก็สามารถผลิตไฟฟ้าและขายคืนสู่ระบบได้
CPF-WHA ขยายลงทุนโซลาร์
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการสำรวจข้อมูลพบว่าภาคธุรกิจตื่นตัวติดตั้งแผงโซลาร์ในหลังคาอย่างมาก เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีนโยบายยกเลิกใช้ถ่านหินในปี 2565 “CPF Coal Free 2022” โดยเสริมโครงการฟาร์มและโรงงานใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีการได้ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงานไปแล้ว 23 แห่ง โซลาร์ฟาร์ม 4 แห่ง และโซลาร์ลอยน้ำ 2 แห่ง และกำลังจะเดินหน้าโครงการนี้ระยะ 3
คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์รูฟ โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำอีกไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ในปี 2566 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 43 เมกะวัตต์ เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้า 62 ล้านหน่วยต่อปี
ขณะที่ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) จัดทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปขนาด 820 KWp พ่วงระบบกักเก็บพลังงานขนาด 550 KWh เมื่อปี 2564 เพื่อจ่ายไฟให้ระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้4 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 10,500 ตัน
ทางด้าน บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ผู้ผลิตเบเกอรี่ S&P ได้ขยายพื้นที่โครงการโซลาร์รูฟโรงงานเบเกอรี่ เฟส 2 เมื่อปี 2564 ส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าได้รวม 997.5 กิโลวัตต์ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1.35 ล้านหน่วย ทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตเบเกอรี่ของบริษัทมีสัดส่วนถึง 35-40%
SCB-KBANK หนุนปล่อยกู้
นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจรายย่อยและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัท กันกุล โซลาร์ คอมมูนิตี้ จำกัด ทำแคมเปญพิเศษให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟ “ร้อนนี้ ติดโซลาร์หั่นค่าไฟ” โดยลูกค้าที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟกับกันกุลฯ ตั้งแต่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 2565 รับส่วนลดสูงสุด 59,900 บาท รับประกันการติดตั้ง 2 ปี ทั้งยังเป็นการตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่คนทำงานที่บ้านมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดภาวะโลกร้อน
“เราคาดว่ากลุ่มลูกค้าที่มีค่าใช้จ่ายค่าไฟต่อเดือน 3,000 บาทขึ้นไป จะให้ความสนใจโซลูชั่นนี้ เพราะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงสุด 60% ต่อเดือน และยังช่วยลูกค้าเพิ่มรายได้อีกทาง โดยกรณีลูกค้ามีไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้สามารถนำมาขายไฟให้แก่ภาครัฐ โดยกันกุลฯจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการประสานงานกับภาครัฐให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการดังกล่าวอีกด้วย”
นางชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเปิดตัวโครงการสินเชื่อ GREEN ZERO ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้ายื่นขอสินเชื่อบ้าน “Solar Roof” แล้ว 5 ราย วงเงินกู้ประมาณ 31 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกำลังเร่งประชาสัมพันธ์และหาพันธมิตรทั้งในส่วนบริษัทอสังหาฯและผู้ประกอบการโซลาร์รูฟ
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่ที่ออกแบบโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟพร้อมขาย ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในการลดค่าไฟที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดเมื่อสองปีก่อน จึงมองว่าสินเชื่อบ้านโซลาร์รูฟจะมีแนวโน้มที่ดี สอดคล้องกับที่ทั่วโลกมีการตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐประกาศ Net Zero ในปี 2065 ซึ่งในส่วนของธนาคารก็ให้ความสำคัญเรื่อง ESG มาอย่างต่อเนื่อง
Source : ประชาชาติธุรกิจ