กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายเริ่มให้มีการผลิตและใช้ไฮโดรเจนในกลุ่มโรงไฟฟ้าตามแผน PDP ปี 2566-2580
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานนำเสนอโรดแมปแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ประกอบด้วย 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง
แนวทางการดำเนินการสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าแบบที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การใช้พลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นเทคโนโลยีสีเขียว ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน โดยกำหนดเป้าหมายเริ่มให้มีการผลิตและใช้ไฮโดรเจนในกลุ่มโรงไฟฟ้าตามแผน PDP ปี 2566-2580 โดยกำหนดปริมาณการใช้ไฮโดรเจนมากสุดอยู่ที่ร้อยละ 20 ภายในปี 2580 ในปัจจุบันไทยมีฐานพลังงานสะอาดในประเทศคิดเป็นร้อยละ 20 และคาดการณ์ว่าฐานพลังงานสะอาดของไทยจะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 50-60 ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า
“ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการผลิตและใช้ไฮโดรเจน” ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1: การพัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ เพื่อให้ได้ปริมาณมาก ต้นทุนต่ำลง มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ใช้ การพัฒนากลไกราคาที่มีการพิจารณาเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมกับการพัฒนาโครงการนำร่อง ทาง สนพ. มีแผนนำร่องเปิดศูนย์ไฮโดรเจน วัลเลย์ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป
ยุทธศาสตร์ 2: การส่งเสริมการวิจัยและอุตสาหกรรมในประเทศ มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ พัฒนาการตลาดและกลไกการซื้อขายคาร์บอน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ต่อเนื่องทั้งการขนส่ง เก็บและการนำไปใช้
ยุทธศาสตร์ที่ 3: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายระบบท่อสำหรับเชื้อเพลิงผสม พัฒนาระบบจัดเก็บ ขนส่ง และสถานีเติมไฮโดรเจน พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับไฮโดรเจนสีเขียว
ยุทธศาสตร์ที่ 4: การปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการเกี่ยวกับการใช้การผลิต ความปลอดภัย การขนส่ง การจัดเก็บ และการจำหน่าย
“การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจน” หลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจน โดยจะเริ่มจากไฮโดรเจนสีฟ้า ซึ่งเป็นการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนหรือฟอสซิลเป็นวัตถุดิบใน การผลิตเช่นเดียวกัน แต่มีการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (CCS) เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไว้แล้วอัดเก็บไว้ใต้ดินที่ปลอดภัย และเป้าหมายต่อไป คือ ยกระดับการพัฒนาสู่ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในที่สุด ซึ่งเป็นการผลิตไฮโดรเจนด้วยการแยกน้ําด้วยไฟฟ้าซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา โดยใช้น้ําเป็นวัตถุดิบ หรืออีกวิธีคือการใช้ชีวมวลหรือขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน จุดอ่อนที่สำคัญของพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ คือ ปัญหาเรื่องความไท่เสถียรเรื่องความเข้มของแสงอาทิตย์แบะแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถกักเก็บพลังงานเป็นระยะเวลานาน ส่วนพลังงานลม คือ ความไม่สม่ำเสมอของความเร็วลมส่งผลให้พลังงานลมเหมาะสมในพื้นที่เฉพาะที่มีกระแสลมแรงต่อเนื่อง
จากรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลนโยบายมาตรการในสหภาพยุโรปประกอบข้อเสนอแนะนโยบายด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทย ปี 2564 ระบุว่าสหภาพยุโรปมองว่าพลังงานไฮโดรเจนจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักในอนาคต เนื่องจากสามารถสกัดได้จากน้ําซึ่งสามารถนํามาหมุนเวียนใช้ได้ มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานความร้อนสูง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก ปูนซีเมนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยตั้งเป้าว่าในปี 2025-2030 พลังงานไฮโดรเจนกลายเป็น ส่วนหนึ่งของระบบพลังงานแบบรวมด้วยสัดส่วนอย่างน้อย 40 กิกะวัตต์และต้องการผลิตไฮโดรเจนหมุนเวียนให้ได้ถึง 10 ล้านตัน
สำหรับประเทศไทยได้มีการนำไฮโดรเจนมามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดย กฟผ. ได้ดำเนินโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ซึ่งทาง กฟผ. กำลังศึกษาเพิ่มเติมแนวทางการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกใหม่ผสมก๊าซธรรมชาติร่วมผลิตไฟฟ้า สัดส่วนร้อยละ 5-20 ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่อง โดยจะเพิ่มขึ้นตามขั้นบันไดจากร้อยละ 5 ระหว่างปี 2574-2583 เป็นร้อยละ 10 ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2584-2593 และเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2594-2603 และเพิ่มสูงสุดเป็นร้อยละ 20 ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2604-2613
พลังงานไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศไทยและนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งเป้าหมายไว้ มาตรการด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญเพื่อจูงใจผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานไฮโดรเจน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและต้นทุนสูงจึงต้องได้รับมาตรการส่งเสริมอย่างชัดเจน
Source : Ch7.com