ปตท.ย้ำ การก้าวสู่ Net Zero เทคโนโลยี-นโยบายภาครัฐสำคัญ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำช้าไม่ได้ ทำเร็วก็ไม่ดี องค์กรต้องแข่งขัน ชี้ภายในปี 2030 กลุ่มปตท.ต้องมีรายได้จากธุรกิจใหม่ 30%
นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “Special Forum Innovation Keeping The World : Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก” หัวข้อ “Rethink Recover คิดใหม่เพื่อโลก : Innovation for Zero Carbon” จัดโดย “สปริงนิวส์” และ “เนชั่น กรุ๊ป” ว่า ปตท. เติบโตมาจากอุตสาหกรรมพลังงาน โดยธุรกิจของปตท. ในอดีต เริ่มจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ระยะหลังเริ่มมีปิโตรเคมี
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลังงานถือว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนเยอะที่สุดในสัดส่วนกว่า 60% ของประเทศไทย เมื่อสังคมโลกได้เริ่มบีบคั้นเกี่ยวกับคาร์บอน โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป น้ำแข็งกำลังละลายและท่วมบ้าน ภูมิอากาศเปลี่ยนไป แม้แต่กระทั่งประเทศไทย จะเห็นว่าเมื่อช่วงเดือนเม.ย. ช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา อากาศเย็นมาก ถือเป็นโอกาสให้เห็นว่าการปลดปล่อยคาร์บอนมีผลกับสภาพอากาศ ที่เรียกว่าสภาวะเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม ปตท. อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนว่าธุรกิจเดิมที่อยู่กับไฮโดรคาร์บอน มีบริษัทลูกที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาทิ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า จากโซล่าเซลล์ และพลังงานลม ปรับรูปแบบดำเนินธุรกิจขายน้ำมันผ่านบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ซึ่งเมื่อจะมุ่งสู่พลังความสะอาดพลังงาน หรือ Go Green คนมาเติมน้ำมันในปั๊มปตท. จะลดลงหรือไม่ นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ EV Value Chain ปตท. ได้จัดตั้ง บริษัท อรุณพลัส เพื่อวัตถุประสงค์สนับสนุนทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยการสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจต้องปรับตัว ในการทำธุรกิจกับต่างประเทศประเทศที่เขาให้ความสำคัญโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกยุโรปหรืออเมริกาไม่ว่าองค์กรเดินเรือหรือการบินระหว่างประเทศคำนึงถึงปัญหาคาร์บอน ปตท.อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีคำถามเรื่องเป้าหมายเน็ตซีโร่ หรือแม้แต่การจะกู้เงินเพื่อลงทุนธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทใหญ่ ๆ จะถูกธนาคารถามเรื่องของเป้าหมายคาร์บอน หากไม่คำนึงอาจจะไม่ปล่อยเงินกู้หรือไม่ก็ดอกเบี้ยแพง เป็นต้น
“ปตท. จากที่เคยทำน้ำมัน ก๊าซฯ ปิโตรเคมี เมื่อทุกคนให้ความสนใจมุ่งสู่ Go Green ดังนั้น ทุกอย่างต้องสะอาด รวมถึง Go Electric การผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่เป็นน้ำมัน จะต้องเปลี่ยนไป ปตท. เป็นองค์กรขนาดใหญ่สำหรับประเทศไทยเกิดขึ้นจากที่ประเทศขาดแคลนน้ำมันปี 2521 ดำเนินธุรกิจรวม 44 ปี สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”
ทั้งนี้ ปัจจุบันปตท. ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม พลังงานไม่ขาดแคลน มีไฟฟ้าใช้ตลอด แม้ราคาจะแพง เพราะนำเข้าน้ำมันกว่า 90% แต่การขาดแคลนไม่เกิดขึ้นเหมือนบางประเทศที่ต้องรอคิว และไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาให้ประชาชนในประเทศ ขณะเดียวกัน ด้วยสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป ปตท. จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดด้วย ไม่เช่นนั้นจะโดนบีบลงเรื่อย ๆ และอนาคตสัดส่วนของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สถานีบริการน้ำมันของโออาร์จึงเริ่มติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งาน
“ปัจจุบันลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น จำนวน 50% เข้ามาเติมน้ำมัน ส่วนอีก 50% มาใช้บริการด้านอื่น ๆ ซึ่งทางโออาร์มีร้านกาแฟ สะดวกซื้อ ร้านอาหาร บริการต่าง ๆ อีกมากมาย”
นายเทอดเกียรติ กล่าวว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 บนเวที COP26 นั้น การจะทำให้ทั้งประเทศเป็น Net Zero จะต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ ซึ่งต้องคิดดี ๆ ดังนั้น ปตท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ และบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องมีความรับผิดชอบจะต้องช่วยประเทศไทยให้ดีขึ้น และบรรลุเป้าหมายที่นายกฯ ประกาศ ซึ่งจะต้องทำเป้าหมายให้สำเร็จก่อนเป้าหมายประเทศให้ได้
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินธุรกิจให้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือ เทคโนโลยี ปตท.มีสถาบันวิจัยที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันนวัตกรรม มีทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ภายในธุรกิจเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและเหมาะสมที่สุด จะเป็นการประหยัดงบประมาณได้ดี ปตท. อีกทั้งยังมีสถาบันวิทยสิริเมธีถือเป็นสถาบันการศึกษาทั้งชั้นนำตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เป็นสถาบันที่มีผลการวิจัยสำคัญต่อนักศึกษาและอาจารย์ โดยผลการวิจัยหลาย ๆ อย่างได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย
“ในอดีตเราเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2544 ได้พัฒนาและประสบความสำเร็จ มีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศทั้งในยุโรป มีออฟฟิศอยู่ในลอนดอน และอเมริกา ทำการค้ากับหลายประเทศในเอเซีย จนต้นปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ powering life with future energy and beyond หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต ดังนั้น แผนธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนไป”
อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินธุรกิจในอดีตจากน้ำมันและก๊าซฯ แต่ตอนนี้ ปตท.มีบริษัทลูกกว่า 400 บริษัท ทำให้กำไรจากปตท. ดำเนินการเองอยู่ที่ 10-15% และ ปตท.ได้ตั้งกำไรจากธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจยา อาหารและสุขภาพ ธุรกิจพลังงานสะอาดต่างๆ เป็นต้น ในปี 2030 ต้องได้กำไรอย่างน้อย 30% ในปี 2030
“การจะก้าวสู่ Net Zero หรือ Go Green หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน นโยบายภาครัฐสำคัญ ด้วยเทรนด์ของ Carbon Zero เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ โดยเฉพาะสังคมระดับสากล ค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ใช่ของฟรีทำช้าคงไม่ได้ทำเร็วมากก็อาจจะไม่ดี ทุกคนต้องวิเคราะห์เพราะเป็นต้นทุนของเรา ต้องอย่าลืมว่าการทำธุรกิจสุดท้ายจะต้องแข่งขันได้ หากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วใส่เงินเข้าไปเยอะในเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันได้”
Source : กรุงเทพธุรกิจ