ตั้งวอร์รูม 10 วันทำงานตลอด 24 ชม.เกาะติดช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานแหล่งเอราวัณสู่ระบบแบ่งปันผลผลิตตลอด24 ชม.ตั้งแต่ 23 เม.ย.-2 พ.ค. 2565 เพื่อให้การผลิตก๊าซฯไม่สะดุด ด้าน ปตท.สผ.โอเปอเรเตอร์รายใหม่ชี้ผลิตก๊าซไม่ได้ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามตามที่ตกลงไว้กับรัฐ ต้องเพิ่มการผลิต ก๊าซฯจากแหล่งบงกชและอาทิตย์มาเสริม รวมทั้งให้ปตท.นำเข้า LNG มาช่วยทดแทนอีกทาง
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center : ENC) รายงานถึงความคืบหน้าที่กระทรวงพลังงานจะมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวอร์รูมเฉพาะกิจเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเปลี่ยนผ่านจากบริษัทผู้รับสัมปทานแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ในอ่าวไทยไปสู่บริษัทใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 23 เม.ย.65 ว่า วอร์รูมจะมีการสลับสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทำงานมอนิเตอร์สถานการณ์ตลอด 24 ชม. ตั้งแต่ 23 เม.ย. -2 พ.ค. 2565
โดยได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทั้งส่วนที่อยู่บนบก (Onshore) และเจ้าหน้าที่นอกชายฝั่ง (Offshore) และเจ้าหน้าที่ประจำออฟฟิศ ในส่วนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อประสานการทำงานกับพนักงานของทางเชฟรอนที่เป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมและกับ ปตท.สผ. ที่เป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่
โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีการซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณหายไปจากระบบ และแนวทางแก้ไขปัญหาในการจัดการก๊าซฯ ไว้แล้ว โดยเมื่อมั่นใจแล้วว่าช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผู้ผลิต จะไม่มีเหตุฉุกเฉินใดๆ ที่กระทบต่อการผลิตก๊าซฯ จึงจะยุติการเฝ้าระวังใกล้ชิด
สำหรับแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานคืนวันที่ 23 เม.ย. 2565 นั้นตามข้อตกลงภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต ที่บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของ ปตท.สผ. ร่วมทุนกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด จะต้องผลิตก๊าซขั้นต่ำในปริมาณ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน แต่เมื่อมีปัญหาการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการผลิตทำไม่ได้ตามแผน โดยล่าสุดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่าน่าจะผลิตก๊าซได้เพียง ประมาณ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น
ซึ่งมีการแก้ไขปัญหาโดยการจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นในอ่าวไทยเพิ่ม เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่มีราคาสูงอยู่ในขณะนี้
โดยแหล่งบงกช ทาง ปตท.สผ. จะเพิ่มกำลังการผลิตได้ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันต่อเนื่องไปถึงปี 2566 แล้วจึงปรับลดการผลิตลงมาเหลือ 700 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน
สำหรับแหล่งก๊าซอื่นๆได้มีการเจรจาให้เพิ่มการผลิตอย่างเต็มกำลังแล้ว ที่จะได้ปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้นจากสัญญา 5-10 % หรือเพิ่มขึ้นมาประมาณ 100 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน
รวมทั้งการเจรจาขอเพิ่มการผลิตในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย มาเลเซีย ซึ่งตกลงได้แล้ว 1 แหล่ง อีก 1 แหล่งอยู่ในระหว่างการเจรจา
โดยสำหรับการนำเข้า LNG เพื่อทดแทนกรณีแหล่งเอราวัณผลิตไม่ได้ตามสัญญานั้นประเมินตัวเลขโดยรายงานให้ กพช.ทราบแล้วว่า ปตท.จะต้องนำเข้า LNG เข้ามาทดแทนประมาณ 1.8 ล้านตันในปี 2565 โดยปัจจุบันราคา LNG นำเข้าสูงกว่าราคาก๊าซที่ ปตท.สผ.เสนอไว้ตอนชนะประมูลที่ 116 บาทต่อล้านบีทียูมาก โดยจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที มากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับราคา LNG ที่ ปตท.นำเข้ามาในช่วงนั้นๆ
Source : Energy News Center