News & Update

กกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มในกลุ่มที่ยังไม่มี PPA กับการไฟฟ้า

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขยายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมไปยังกลุ่มไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รองรับแหล่งก๊าซฯเอราวัณหมดอายุสัมปทาน  หลังจากก่อนหน้านี้เปิดรับซื้อเฉพาะกลุ่มที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่ก่อนแล้ว โดยล่าสุดออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กำหนดเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าได้ 18 เม.ย. 2565 ระบุอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามมติ กบง. โดยรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ส่วนแสงแดด และลม รับซื้อ 0.50 บาทต่อหน่วย 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานความคืบหน้าการจัดหาไฟฟ้ารองรับสถานการณ์แหล่งผลิตก๊าซเอราวัณจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย. 2565 ซึ่งจะทำให้การผลิตก๊าซฯ น้อยลง ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตรายใหม่ว่า  ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นชอบให้ซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตพลังงานทดแทนมาเสริมระบบ โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 ได้มีมติทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565

โดยเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP)จากสัญญาเดิมและนอกเหนือจากสัญญาเดิม ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล หรืออื่นๆที่นอกเหนือจากชีวมวลจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และพร้อมจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบของการไฟฟ้าสามารถรองรับได้  โดยเป็นการรับซื้อแบบปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm

โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ ไว้ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม

ล่าสุด นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 “เปิดรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า พ.ศ. 2565” สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าตามที่ กบง. มีมติไว้ดังกล่าว โดยประกาศนี้ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ขายไฟฟ้าว่า ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับการไฟฟ้า หรือสัญญาสิ้นสุดแล้ว ณ วันที่ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า หรือผู้ที่มีการผลิตเพื่อใช้เองและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565  สำหรับรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) กำหนดสิ้นสุดสัญญาภายใน 31 ธ.ค. 2565

ทั้งนี้ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) จะออกประกาศกำหนดรายละเอียดในวันที่ 11 เม.ย. 2565 จากนั้นจะเปิดยื่นตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตั้งแต่ 12 เม.ย. 2565 และเปิดรับยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าวันที่ 18 เม.ย. 2565  โดยจะประกาศผลการพิจารณาคำเสนอขายไฟฟ้าภายใน 14 วัน นับถัดจากวันที่คำเสนอขอขายไฟฟ้าครบถ้วน และจะลงนามซื้อขายไฟฟ้ากันต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าอยู่แล้วนั้น ทาง กกพ. ก็ได้ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้แล้ว  โดยที่ผ่านมา กกพ. ได้ออกประกาศเชิญชวน “การรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า พ.ศ. 2565”  แต่เปิดรับซื้อเฉพาะไฟฟ้าจาก SPP และVSPP ที่มีสัญญา PPA อยู่แล้ว ที่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือขยะ  แต่เมื่อ กบง. ได้ทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่ เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย และรับซื้อไฟฟ้าจากแสงแดด และลม เพิ่มในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ กกพ. ต้องออกประกาศเชิญชวนฯ เป็นฉบับที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตามมติ กบง. ดังกล่าวด้วย  และทั้ง 3  การไฟฟ้าได้ออกประกาศเปิดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าไปแล้วตั้งแต่ 25 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยเป็นสัญญา Non-Firm สิ้นสุดสัญญา 31 ธ.ค. 2565 เช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ ​ERC.go.th

Source : Energy News Center

เนื้อหาน่าสนใจ :  กกพ. เบรกแถลงค่า Ft งวด ก.ย. – ธ.ค. 65 คาดรัฐขอเวลาหาข้อยุติมาตรการช่วยค่าไฟฟ้าประชาชนก่อน

รัฐเร่งยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ หนุนลงทุนแบตเตอรี่รถยนต์-สถานีชาร์จไฟฟ้า

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยในงาน Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ว่า…

“โคเวสโตร” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน ลดก๊าซเรือนกระจก 60% ปี 73

โคเวสโตร เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัสดุโพลิเมอร์และส่วนประกอบทางโพลิเมอร์คุณภาพสูงชั้นนำของโลก ด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และวิธีการที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุม โคเวสโตร ให้บริการลูกค้าทั่วโลกในอุตสาหกรรมหลัก เช่น การเดินทางและการขนส่ง อาคารและที่อยู่อาศัย ตลอดจนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์…

พ.ร.บ ใหม่ แนะ SME ปรับตัวรับโลกร้อน ด้านคาร์บอนเครดิตดีด ตื่นตัวเพิ่มขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เข้ามามีบทบาททำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ตลอดถึง SME ที่ได้รับผลกระทบ และต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ใหม่ของโลก…

Leave a Reply