News & Update

กกพ.ปรับเกณฑ์รับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ เป็นแบบระยะยาว 10 ปี 90 เมกะวัตต์

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ จากเดิมเปิดรับซื้อแบบปีต่อปี 10-50 เมกะวัตต์ โดยเปลี่ยนเป็นเปิดรับซื้อระยะยาว 10 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2573 รวมปริมาณไฟฟ้าไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และจากสถิติที่ผ่านมาเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน 4 ครั้ง รับซื้อไฟฟ้าได้เพียงเกือบ 9 เมกะวัตต์ จากปริมาณรับซื้อรวมทั้งหมด 260 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การเปิดรับซื้อไฟฟ้า “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566” หรือโซลาร์ภาคประชาชน ที่เปิดรับสมัครมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน

โดยกำหนดให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนใหม่เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อ 6 พ.ค. 2565  และมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 โดยได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับ “แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1” ซึ่งกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA) ร่วมกันบริหารจัดการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573  จำนวนไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 10 ปี โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายนับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าตามกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(SCOD)  

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ใหม่แตกต่างจากเดิมที่ กพช. เคยกำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนแบบปีต่อปี ประมาณปีละไม่เกิน 10-50 เมกะวัตต์ ก็ปรับมาเป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2573  รวม 90 เมกะวัตต์แทน

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กกพ.ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนตามคำสั่ง กพช. มาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการรับซื้อไฟฟ้าได้ถึงเป้าหมายเลยสักครั้ง โดยในปี 2564 และปี 2565 เปิดรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ แต่มีประชาชนขายไฟฟ้ารวมเพียง 3-4 เมกะวัตต์ เนื่องจากราคารับซื้อไม่จูงใจมากนักเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย และในปี 2564 ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อเหลือ 50 เมกะวัตต์ พร้อมปรับราคารับซื้อไฟฟ้าขึ้นเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังรับซื้อมาได้เพียงกว่า 3 เมกะวัตต์เท่านั้น

จนในปี 2565 ซึ่งเป็นรอบที่ 4 ในการเปิดรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชน ได้มีการปรับลดเป้าหมายรับซื้ออีกครั้งเหลือ 10 เมกะวัตต์ โดยเปิดรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่ พ.ค. 2565 และเมื่อสิ้นสุดปี 2565 พบว่ามีประชาชนเสนอขายรวม 1.37 เมกะวัตต์  รวมเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนมา 4 ครั้ง (พ.ศ. 2562-2565) ได้ไฟฟ้ารวมเพียงเกือบ 9 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อรวม 260 เมกะวัตต์  

Source : Energy News Center

นักวิชาการชี้ขึ้นค่าไฟกระทบภาคธุรกิจ จากนี้ 3 เดือนมีโอกาสเห็นสินค้าราคาแพง

ธนวรรธน์ มองการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า จาก 3 บาทหน่วย เป็น 5 บาทต่อหน่วย กระทบธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ชี้…

TCP อัดงบความยั่งยืน ปีละ 100 ล้าน กู้ภาวะโลกเดือด

TCP กระตุ้นทุกภาคส่วนเร่ง “ลงมือทำ” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รับภาวะโลกเดือด งัด 4 แกนหลักขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality…

Tesla ตัดต้นไม้ 500,000 ต้นเพื่อสร้างโรงงาน Gigafactory ในเยอรมนี

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่เทสลากำลังสร้างโรงงาน Gigafactory ใกล้กรุงเบอร์ลิน บริษัทได้ตัดต้นไม้ลงไปประมาณครึ่งล้านต้น แสดงให้เห็นผลกระทบของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แม้จะดีกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบเก่าอย่างมากก็ตาม บริษัท Kayrros ซึ่งวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์…

Leave a Reply