ปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ปีค.ศ.2065
ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ ยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดนั้น การพัฒนาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จึงถือว่ายังมีความจำเป็นนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตํ่า ขณะที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่มีความเสถียรทั้งด้านราคาและปริมาณ
หนึ่งในความหวังของการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก ที่จะมาช่วยทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทย ที่นับวันจะลดลงเรื่อยๆ คงหนีไม่พ้นแหล่งพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) ซึ่งมีเนื้อที่ทางทะเลประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่ประเมินกันว่ามีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่ไม่แพ้แหล่งในอ่าวไทย
อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาก๊าซฯ จากแหล่ง OCA ขึ้นมาใช้ ปัจจุบันยังติดปัญหาความขัดแย้งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอยู่ แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการเจรจาร่วมกันแต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งต้องรอความหวังว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะสามารถผลักดันการเจรจาให้สำเร็จ ตามที่พรรคเพื่อไทยกำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศได้หรือไม่
ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไป พื้นที่ OCA เกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาชิงประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิขีดเส้นลํ้าเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร เป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น ส่งผลต่อสิทธิสัมปทานทั้งไทยและกัมพูชา ที่ให้ไว้กับบริษัทเอกชนไม่มีรายใดสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจปิโตรเลียมได้เลย จนมาถึงปัจจุบัน
ดร.สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ที่ผ่านมาได้เร่งดำเนินการตามกรอบบันทึกข้อตกลง MOU 2544 อย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติทางทะเลและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสำคัญ ตามกรอบว่าด้วยการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน การกำหนดพื้นที่ที่จะมีการแบ่งเขตพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล โดยทั้งการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนั้น จะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ (Indivisible package) และการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee -JTC) ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจา
สถานะการเจรจานับตั้งแต่ที่ลงนามใน MOU 2544 หรือรอบ 22 ปี ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วม JTC มีการจัดประชุมไปแค่ 2 ครั้ง หารืออย่างไม่เป็นทางการของประธาน JTC ฝ่ายไทยและกัมพูชา 4 ครั้ง Sub JTC ประชุม 2 ครั้ง การประชุมคณะทำงานชุดที่มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เป็นหัวหน้าคณะ 1 ครั้ง และชุดที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ ประชุม 6 ครั้ง ดังนั้น เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว กรมฯ จะนำเสนอสถานะและความคืบหน้าการเจรจา OCA ที่จะให้เดินหน้าต่อตามกรอบ MOU 2544 เพราะสามารถใช้ JTC ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจาให้มีความคืบหน้าได้
อาจารย์กิตติคุณ ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภายใต้ MOU 2544 มีข้อตกลงเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะแบ่งเขตกันอย่างชัดเจนประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่พัฒนาร่วมกันประมาณ 16,000 ตางรางกิโลเมตร ซึ่งในส่วนที่จะมีการแบ่งเขตแดนให้ชัดเจนนั้น มีปัจจัยที่ทำให้การเจรจาไม่เป็นผล เพราะมีข้อขัดแย้งทางการเมืองที่อาจจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างประเทศ เช่น กรณีการสูญเสียเขาพระวิหารในอดีต จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการเจรจา ซึ่งจะใช้เวลานาน ส่วนในพื้นที่พัฒนาร่วมที่จะแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันนั้น มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้ จะต้องมีการเจรจาถึงรูปแบบข้อตกลง การตั้งเป็นองค์กรที่จะแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน การกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ และเมื่อเจรจาจัดทำร่างข้อตกลงแล้ว จะต้องนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ และมีการออกกฎหมายภายในที่จะต้องดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ หากมีการโต้แย้งจากรัฐสภา ภาคประชาชน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า รัฐบาลใหม่ควรเร่งเจรจา OCA ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ในการสร้างความมั่นคงและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในปริมาณที่มาก และมีราคาแพง จากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ผลิตได้ลดลง การพยายามเสาะแสวงหาแหล่งทรัพยากรจากพื้นที่ OCA จึงเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้น ๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อจัดหาพลังงานราคาถูกให้กับประเทศและประชาชนในระยะยาว
Source : ฐานเศรษฐกิจ