News & Update

คาร์บอนเครดิต ขุมทรัพย์ใหม่ภาคการเกษตรไทย

สวัสดีครับ ภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความเสี่ยงด้านกายภาพ (Physical Risk) ที่คุกคามโลกของเรามากขึ้นทุกวัน นายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ถึงกับเอ่ยว่าตอนนี้โลกของเราผ่านจุดภาวะโลกร้อนและเข้าสู่ภาวะ “โลกเดือด” (Global Boiling) เรียบร้อยแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นภัย “เอลนีโญ” ที่เกิดขึ้นซ้ำเติมโลกอาจจะทุบสถิติใหม่ทำโลกเดือดหนักกว่าเดิมในปี 2567 เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดเผยผลงานวิจัยว่าความเสียหายสะสมจากโลกร้อนต่อภาคเกษตรไทยระหว่างปี 2554-2588 อาจมีมูลค่าสูงถึงระหว่าง 6 แสนล้านบาทถึง 2.85 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกจากภาคเกษตรของไทยจะมีโอกาสได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญโดยเฉพาะจากการปลูกข้าวอีกด้วย                

ทางเลือกและอาจจะเป็นทางรอดที่น่าสนใจสำหรับภาคเกษตรคือ การทำการเกษตรเพื่อขายคาร์บอนเครดิต  ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ผ่านการคัดเลือกพืชพันธุ์ที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี เกษตรกรที่นำแนวคิดนี้ไปใช้จะสามารถรับผลตอบแทนเป็นคาร์บอนเครดิตหรือหน่วยของการลดคาร์บอนที่ทำได้ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยอาจจะครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี 5 ปี หรือระยะยาวที่ 10 ปี เป็นต้น

การทำการเกษตรเช่นนี้จะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน การกักเก็บน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการรับมือกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร และยังสามารถสร้างรายได้ผ่านกลไกการซื้อและขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งองค์กรใหญ่ๆ ที่ต้องการชดเชยการปล่อยมลพิษของตน

ก็อาจจะเข้ามาขอซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกรที่ทำคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์ม ทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนเพื่อลงทุนทำการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป เมื่ออ้างอิงตามข้อมูลจากแพลตฟอร์มขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 ราคาคาร์บอนเครดิตโดยเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ประมาณ 83.03 บาท

ขณะนี้ประเทศไทยเรามีโครงการที่ใกล้เคียงกับแนวคิดข้างต้น นั่นคือโครงการก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นจาก อบก. ตั้งแต่ปี 2557 โดยเป็นกลไกคาร์บอนเครดิตในรูปแบบสมัครใจเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจก

โดย อบก. จะประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินงานภายใต้โครงการ โครงการ T-VER นี้สามารถนำมาใช้ลดกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรได้ โดยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนที่ก่อให้เกิดไนตรัสออกไซด์ ปรับเป็นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักแทน รวมถึงปรับปรุงการจัดการน้ำ อาทิ ลดระยะเวลาน้ำขัง การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เป็นต้น

แนวทางนี้อาจจะกลายเป็น “ขุมทรัพย์” แห่งใหม่ที่ทำให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างรายได้เพื่อเก็บเกี่ยวดอกผลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพและเหมาะกับการทำเกษตรอย่างยั่งยืน หากภาคการเกษตรสนใจเข้าร่วมโครงการนี้จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด ได้แก่ มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป มีเอกสารสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและการจัดทำเอกสาร และมีงบประมาณในการว่าจ้างผู้ประเมินภายนอกมาสอบทานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันมีโครงการที่ขึ้นทะเบียน T-VER แล้วทั้งหมด 350 โครงการ แต่มีโครงการด้านการเกษตรอยู่เพียง 4 โครงการ โดยคาดว่าทั้ง 4 โครงการนี้จะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้รวมประมาณ 89,408 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จึงถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับภาคเกษตรไทย

อีกหนึ่งแรงส่งที่สำคัญคือสถาบันการเงินที่มีบทบาทในการสนับสนุนการทำการเกษตรเพื่อขายคาร์บอนเครดิตโดยอาจจะเริ่มจากการยื่นมือให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ให้คำปรึกษา หรือแม้กระทั่งคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นเฉพาะการทำเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อการรับรองคาร์บอนเครดิตด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารยังสามารถขยายขอบเขตความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อลงทุนและส่งเสริมโครงการคาร์บอนเครดิตเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดคาร์บอนเครดิตที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ดังนั้น คาร์บอนเครดิตจึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์รักษ์โลกแนวใหม่ที่มีศักยภาพที่ช่วยเพิ่มแหล่งรายได้ให้กับภาคการเกษตรในอนาคต และการทำการเกษตรเพื่อสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตนี้ก็กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราทุกคนได้ตระหนักแล้วว่า การลดผลกระทบจากสภาวะโลกเดือดไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไป 

แต่ได้กลายเป็น “ทางรอด” หากประเทศไทยเริ่มทำอย่างจริงจัง ก็อาจจะส่งแรงกระเพื่อมให้หลายประเทศ หันมาสนใจแนวทางการเกษตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตสีเขียวร่วมกันครับ

Source : กรุงเทพธุรกิจ

เนื้อหาน่าสนใจ :  Subaru จับมือ Toyota ร่วมผลิต SUV ไฟฟ้า 3 รุ่น เร่งการพัฒนา EV ยังไม่ทิ้งไฮบริด

เกษตร เคาะแผนรับมือโลกร้อนฉบับใหม่ ประกาศใช้ปลายปีนี้

เกษตรฯ ลุยต่อแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ 2566-2570 เตรียมประกาศใช้ปลายปีนี้ ยก5 แนวทางพัฒนาสร้างสมรรถนะ ภูมิคุ้มกันให้ภาคการเกษตรไทย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร…

เปิด 10 อันดับ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ยอดจดทะเบียนตั้งแต่ต้นปี 66 แรงจัดแซงทุกโค้ง

กรมการขนส่งทางบก เผยการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 100% ที่มีการเข้ามาจดทะเบียนป้ายขาวครั้งแรก ตั้งแต่เดือนม.ค. - ก.ย. 66 โดย 10 อันดับยอดจดทะเบียนสูงสุด…

กระทรวงพลังงานชี้แนวโน้ม​ราคา​ LNG ปรับลดลงส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟ

กระทรวงพลังงานชี้แนวโน้มราคา LNG ช่วงเดือน​ ก.ย.-ธ.ค.66​ ปรับลดลงส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤติราคาพลังงาน โดยสาเหตุหลักเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน…

Leave a Reply