ปตท.กางแผนลงทุนในอนาคต 2.38 แสนล้าน ลุยพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ พุ่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลม พร้อมเดินหน้าตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มประกอบรถยนต์อีวีช่วงกลางปีนี้ 3.3 หมื่นล้านบาท ขยายกำลังผลิต รง.ผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน 1 พันเมกฯชั่วโมงต่อปี
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทบทวนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศปี 2573 ลง 15% เทียบกับปี 2563 เพื่อสอดรับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608
ทั้งนี้ได้จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) ขึ้นมา เพื่อผลักดันการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดจากช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มปตท.ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ที่ 32.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว การดำเนินงานของกลุ่มปตท.ในช่วง 5 ปีนี้(2565-252569) กลุ่มปตท.ได้กำหนดแนวทางการลงทุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น Carbon Capture Storage and Utilization (CCSU), การซื้อขายคาร์บอนเครดิต, การปลูกป่า, การใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต, การใช้พลังงานไฮโดรเจน การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG และการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น โดยได้จัดสรรงบลงทุนภาพรวมไว้ราว 9.44 แสนล้านบาท และตั้งงบลงทุนในอนาคต (PROVISINAL) 7.47 แสนล้านบาท
ขณะที่วงเงินลงทุนช่วง 5 ปี ของปตท.และบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100 % อยู่ที่ 102,165 ล้านบาท และตั้งงบลงทุนในอนาคตไว้ 238,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจ Life science ได้แก่ ธุรกิจยา อาหารเสริม อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ การลงทุนพลังานหมุนเวียน การลงทุนในธุรกิจยายนต์ไฟฟ้า ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการขยายโคงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG) อย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ในส่วนของพลังงานอนาคต จะมุ่งสู่ธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี มี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ 12 กิกะวัตต์ หรือ 12,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ราว 2,206 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 7,122 เมกะวัตต์ ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 44.45 % โดยล่าสุดบริษัทย่อยของ GPSC อยู่ระหว่างเข้าถือหุ้นในบริษัท CI Changfang Limited และบริษัท CI Xidao Limited ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน กำลังผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 25 % คิดเป็นมูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท
พร้อมกับจัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) มีบริษัท อรุณ พลัส(ปตท.ถือหุ้น 100 %) ถือหุ้นสัดส่วน 51 % และ GPSC ถือหุ้น 49 % ด้วยทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท เพื่อเป็นแกนหลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท.และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain) ซึ่งปัจจุบัน GPSC มี โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid ด้วยกำลังผลิตที่ 141 เมกะวัตต์ชั่วโมง และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตขึ้นเป็น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือ 1 พันเมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มปตท.ที่ 12,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573ได้
ขณะที่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) จะเป็นหัวหอกการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยถือหุ้น 60 % ร่วมลงทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (LIN YIN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีในไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 3,220 ล้านบาท
นอกจากนี้จะตัดสินใจเริ่มลงทุนก่อสร้างแพลตฟอร์มประกอบรถยนต์อีวีช่วงกลางปีนี้ บนพื้นที่ 350ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ในระยะแรกด้วยวงเงินลงทุนราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 หมื่นล้านบาท จะเปิดผลิตได้ในปี 2567 กำลังผลิต 50,000 คัน/ปี และระยะที่ 2 จะผลิต 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2575 ซึ่งในขณะนี้มีหลายกลุ่มเข้ามาเจรจา เพื่อขอใช้แพลตฟอร์มนี้ในการผลิตยานยนต์อีวีมาจำหน่าย ตามทิศทางความนิยมที่พุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ ARUN PLUS ยังได้จำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในทำเลที่มีศักยภาพ โดยมีแผนขยายสถานีอัดประจุอีกกว่า 1,000 เครื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในปี 2565 พร้อมขยายสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ของ Swap & Go ทั่วประเทศ จากปัจจุบันมากว่า 22 แห่ง
อีกทั้ง ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) มี ARUN PLUS ถือหุ้น 100 % ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศ อาทิ บริการให้เช่า EV บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุง EV ซึ่งปัจจุบันการบริการให้เช่ารถอีวี 200 คัน เป็นที่นิยมมาก มียอดจองสูงกว่า 90 % ดังนั้นเตรียมแผนจะเพิ่มจำนวนรถบริการเป็น 500 คัน
ตลอดจนจัดตั้ง บริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) มีบริษัท อัลฟ่าคอม จำกัด (บริษัทย่อยซึ่ง ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด) เพื่อเป็นตัวแทนให้บริการซื้อขายด้านพลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจก (Climate Neutrality) ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มให้แก่บริษทที่มีเป้าหมายและต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานดังกล่าวได้ง่าย โดยมีบริการหลัก อาทิ การซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ระบบในการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้งานพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3763 วันที่ 6- 9 มีนาคม 2565
Source : ฐานเศรษฐกิจ