ช่วงนี้กระแสของรถยนต์ไฟฟ้ามาแรงมาก ยอดขายในงาน MotorExpo 2023 ที่ผ่านมาก็เรียกได้ว่ากวาดยอดขายไปได้เกือบ 40% ของทั้งงาน แน่นอนว่าการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานนั้น จะไม่เหมือนกับการซื้อรถน้ำมันแบบเดิมๆ อีกต่อไป ต้องพิจารณาในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะส่วนที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดนั่นก็คือ ระยะทางที่วิ่งได้ต่อชาร์จ ที่ในปัจจุบันนี้จะมีระบุเอาไว้ในรายละเอียดทางเทคนิคของรถยนต์แต่ละรุ่นกันเลย พร้อมกับตัวอักษรสั้นๆ กำกับเอาไว้ ซึ่งเป็นมาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า แต่ละยี่ห้อก็ใช้ไม่เหมือนกันด้วย วันนี้ทางทีมงานเลยขอนำข้อมูลเกี่ยวกับ มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้ามาให้รู้จักกัน เผื่อว่าใครที่กำลังจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือซื้อมาแล้ว จะได้ทราบว่า รถที่กำลังจะซื้อนั้น จริงๆ แล้ววิ่งได้ระยะทางเท่าไหร่ เท่ากับตัวเลขที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระบุเอาไว้หรือไม่
มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า คืออะไร
มาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า (EV Range) คืออะไร อธิบายกันแบบง่ายๆ ได้ว่า เป็นการวัดว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ระยะทางเท่าไหร่ต่อการชาร์จแบตเตอรี่ครั้งเดียว ก็คือชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มแล้ววิ่งได้กี่กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีมาตรฐานที่ใช้วัดกันอยู่หลายตัวด้วยกัน และที่นิยมใช้ตอนนี้ก็จะมี EPA , CLTC , WLTP และ NEDC แต่ละตัวก็จะมีความแตกต่างกันออกไป เนื่องจากมีการทดสอบที่แตกต่างกัน และความแม่นยำในการวัด รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการวัดก็แตกต่างกันอีกด้วย ทีนี้เรามาดูกันว่าแต่ละมาตรฐานนั้นเป็นมาอย่างไร และใช้วิธีในการวัดแบบไหนบ้าง
EPA (Environmental Protection Agency)
เป็นมาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้กันในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยวิธีการทดสอบนั้นจะทำภายในห้องแลปทั้งหมด เริ่มจากการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้เต็มก่อน แล้วจอดรถทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นก็จะนำรถขึ้นวิ่งบนไดโน่ (Dyno) โดยใช้วิธีการจำลองการวิ่งในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบวิ่งในเมือง (UDDS) และ การทดสอบวิ่งนอกเมือง (HWFET) ซึ่งจะทำสลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด และรถไม่สามารถวิ่งต่อไปได้แล้ว จากนั้นก็จะทำการบันทึกระยะทางที่รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้สูงสุดเอาไว้
NEDC (New European Driving Cycle)
มาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าของทางฝั่งยุโรป ซึ่งใช้กันมานานแล้วตั้งแต่ปี 1997 เป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดยสหภาพยุโรป (EU) สำหรับรถที่ใช้งานในเมือง และถนนบริเวณชานเมือง เท่านั้น ทำให้ตัวเลขที่ออกมานั้น มีค่าที่สูงกว่าการวิ่งจริงๆ ของรถพอสมควร ซึ่งค่าตัวเลขอาจจะไม่ค่อยแม่นยำมากนัก ปัจจุบันทางฝั่งยุโรปได้เปลี่ยนมาตรฐานการวัดระยะทางมาเป็น WLTP แล้ว เพราะมีตัวเลขมีความแม่นยำมากกว่า แต่ปัจจุบันก็ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าหลายๆ ยี่ห้อ ยังคงเลือกมาตรฐาน NEDC กันอยู่ เช่น MG, GWM และ NETA ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ด้วย
WLTP (Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure)
มาตรฐานที่พัฒนาโดยสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มใช้กันตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ที่เป็นมาตรฐานต่อจาก NEDC ที่มีความแม่นยำมากกว่า หากเทียบกับมาตรฐาน NEDC แล้ว WLTP จะวัดระยะทางได้น้อยกว่าประมาณ 20 – 30% การทดสอบระยะทางนั้นจะทดสอบทั้งสภาวะการวิ่งในเมือง และนอกเมือง ทำให้ได้ระยะทางวิ่งที่ไกล้กับความเป็นจริงมากกว่า โดยรถค่ายยุโรปส่วนใหญ่ก็ใช้มาตรฐานนี้ อาทิเช่น BMW, Audi , Volvo และ Mercedes ซึ่งจะระบุ WLTP กำกับไว้กับตัวเลขระยะทางวิ่งสูงสุด
CLTC (China Light-Duty Vehicle Test Cycle)
มาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้กันในประเทศจีน มาตรฐานใหม่ที่อ้างอิงผลการทดสอบจากมาตรฐาน NEDC และเน้นให้มีความแม่นยำมากกว่าเดิม เริ่มใช้กันตั้งแต่ปี 2020 CLTC ถูกพัฒนาขึ้นโดย China Automotive Technology & Research Center (CATARC) มีการทดสอบใน 3 รูปแบบความเร็ว คือ ต่ำ กลาง และเร็ว โดยใช้ระยะเวลาในการทดสอบ 30 นาที ความเร็วก็เริ่มจากหยุดนิ่งไปจนถึงความเร็วสูงสุดที่ 114 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งในรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง TESLA ที่จำหน่ายในประเทศจีน ก็ใช้มาตรฐาน CLTC เช่นกัน หากเทียบกับรถรุ่นเดียวกันที่จำหน่ายในประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรฐานอื่น ก็จะเห็นได้ว่าตัวเลขนั้นสูงกว่า
หลังจากที่เราทราบมาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆ แล้ว ทีนี้เวลาเราจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ ก็จะพิจารณาเรื่องระยะทางได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคคงไม่สามารถให้ผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าระบุมาตรฐานระยะทางตามที่เราต้องการได้ครับ ก็ได้แต่ดูมาตรฐานที่เขาเลือกใช้ แล้วก็พิจารณาถึงตัวเลขจริงๆ ที่ควรจะทำได้ ซึ่งถ้าถ้าว่ามาตรฐานไหนที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ก็เห็นจะเป็น EPA ของทางฝั่งอเมริกา รองลงมาก็จะเป็นมาตรฐาน WLTP ของทางฝั่งยุโรป ต่อไปก็จะเป็น CLTC ของประเทศจีน และที่ไม่ค่อยใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดก็จะเป็น NEDC ครับ ซึ่งถ้าเราจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อที่ใช้มาตรฐานวัดระยะทางแบบ NEDC ก็ให้เราประเมินให้ต่ำกว่าตัวเลขที่แจ้งไว้โดยลบระยะทางออกไปประมาณ 20% ก็น่าจะได้ระยะทางที่ไกล้เคียงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น