KTIS ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ สร้างระบบนิเวศตามธรรมชาติ หนุนรับรองคาร์บอนเครดิตไร่อ้อย บวกเพิ่มราคารับซื้อแก้ปัญหาเผาใบก่อนเก็บเกี่ยว พร้อมวิจัย 5 สายพันธุ์อ้อยทางเลือกป้องโรคระบาด เป้านำไปสู่ความยั่งยืน
“อ้อย” เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร และต่อเนื่องเป็นอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมถึงมี by-product หลายชนิดและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลกด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกน้ำตาลมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท สร้างงานในภาคเกษตรให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 4 แสนราย มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ กว่า 12 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ค่าแรงสูง และความรวดเร็วในการตัดอ้อย ทำให้เจ้าของไร่ใช้วิธีการเผาใบก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้สูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวานแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อ อินทรียวัตถุในดิน ที่สำคัญคือ เป็นการสร้างมลพิษทางอากาศ
อภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าในอดีตกระบวนการผลิตอ้อย เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว รวมทั้งเกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก และใช้อย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลให้ดินเสีย มีสารเคมีสะสมอยู่ในดินมาก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การปลูกอ้อยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาด ซึ่งเคยมีมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน เกิดโรคเหี่ยวเน่าแดงขึ้นต้นอ้อยเสียหายกันทั่วประเทศ ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ
ดังนั้นกลุ่ม KTIS จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือการเพาะปลูกอ้อย โดยได้ให้ความรู้เกษตรกรในการใช้วิธีการเกษตรอินทรีย์ (organic) ช่วยในการเพาะปลูก เช่น การใช้แตนเบียนเพื่อควบคุมจำนวนหนอนศัตรูอ้อย โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในไร่อ้อย เป็นวิธีการทำการเกษตรที่ไม่ทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติเพื่อยับยั้งไม่ให้เกษตรกรเผาใบก่อนเก็บเกี่ยวกลุ่ม KTIS ประกาศรับซื้อใบอ้อยบวกเพิ่มจากราคาอ้อย อีกตันละ 800 บาท เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่บริษัทเข้าไปส่งเสริม เพื่อนำใบอ้อยมาใช้เป็นพลังงานชีวมวล เป็นระบบบำบัดของเสียจากการผลิตด้วยระบบเตา recovery boiler ของโรงงานเยื่อกระดาษที่ใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบ100 % ไม่สารคลอรีนซึ่งมีสารก่อมะเร็งสูงในการฟอกขาวเยื่อ ทำให้ได้เยื่อกระดาษที่เหมาะกับผลิตภัณฑ์อาหารและภาชนะใส่อาหาร
รวมทั้งมีระบบการผลิตก๊าซชีวภาพของโรงงานเอทานอล เพื่อบำบัดน้ำเสียโดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ผลิตปุ๋ย bio fertilizer จากผลพลอยได้ เช่น ตะกอนหม้อกรองที่ได้จากการผลิตน้ำตาล ตะกอน sludge จากการผลิตเยื่อกระดาษ น้ำวีนาสจากการผลิตเอทานอล และขี้เถ้าจากเตาผลิตไฟฟ้า เป็นอินทรีย์สาร จำหน่ายราคาถูกให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไปใช้เป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งอินทรียสารเหล่านี้ช่วยปรับปรุงให้คุณภาพดินดีขึ้น เพื่อให้ชาวไร่ได้อ้อยที่มีคุณภาพดี
“เรียกว่าทุกกระบวนการผลิตอ้อยนำมาใช้ประโยชน์ได้หมด เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน อีกทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรจะค่อยๆ ลดลง รวมทั้งปุ๋ยอินทรีย์ จะช่วยดึงเคมีต่างๆในดินออกมาใช้ประโยชน์ ดินก็จะฟื้นสภาพ ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมให้เป็น สมาร์ทฟาร์เมอร์ และได้รับคาร์บอนเครดิต”
การส่งเสริมเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาลดังกล่าว ปัจจุบันสร้างรายให้กับบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 20 % จากรายได้ ปี 64 รวม 1.0419 หมื่นล้านบาท และปี 65 รวม 1.4 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มสัดส่วนของธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเติบโตตามความต้องการมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กลุ่ม KTIS ยังวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย เพราะ การเลือกใช้พันธุ์อ้อยได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่จะยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ซึ่ง กลุ่มKTISได้พัฒนาพันธุ์อ้อยต่างๆตามที่ตั้งของโรงงานน้ำตาล คือ โรงงานเกษตรไทย1 และ 2 ที่จ.นครสวรรค์ และโรงงานไทยเอกลักษณ์ ที่จ. อุตรดิตถ์ กำลังการผลิตรวม 88,000 ตันต่อวัน
ปัจจุบันได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของกลุ่มKTISจึงได้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง กรมวิชาการเกษตรได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้ว 5 สายพันธุ์ ได้แก่ รวมผล 1, รวมผล 2, เกษตรไทย 1, เกษตรไทย 2 และ ไทยเอกลักษณ์ 1 โดยอ้อยทั้ง 5 สายพันธุ์ใหม่ มีความหวาน13-14 C.C.S. ให้ผลผลิต12-17 ตันต่อไร่ 4-8 ลำต่อกอ ลำต้นตรงไม่โค้ง หรือหักงอ เหมาะสำหรับการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว โดยพันธุ์รวมผล 1 สามารถต้านทางโรคเหี่ยวเน่าแดง ได้ด้วย
จากความพยายามของธุรกิจเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมทั้งระบบ ผ่านการสร้างประโยชน์จากผลผลิตให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งกลับประโยชน์สู่เกษตรกรชาวไร่ และสร้างนิเวศของอุตสาหรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนด้วย
Source : กรุงเทพธุรกิจ