สภาพอากาศรุนแรงผลจากภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ทุกคนประจักษ์ชัดทุกขณะ ด้วยข่าวคราวที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายคนตกเป็นเหยื่อน้ำท่วม คลื่นความร้อน และอื่นๆ ปัญหาใหญ่ระดับโลกเช่นนี้กำลังต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่ต้องเริ่มต้นจากไลฟ์สไตล์ของทุกคน
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นจัดบรรยายสรุปผ่านทางออนไลน์ หัวข้อ “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฝั่งอุปสงค์” เริ่มต้นจากความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) เห็นชอบให้มีปฏิบัติการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
แต่น่าเสียดายที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นจากระดับก่อนอุตสาหกรรมไป 1 องศาแล้ว ดังนั้นโอกาสจึงเหลือไม่ถึง 0.5 องศาเซลเซียส นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมทั่วโลกต้องลงมือลดโลกร้อนกันอย่างจริงจัง
เมื่อพูดถึงก๊าซเรือนกระจก มีด้วยสองชนิด
1) ก๊าซเรือนกระจกช่วงอายุยาวนาน อยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนาน มีส่วนสร้างโลกร้อนได้นานขึ้น การจะบรรลุเป้าหมายรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จำต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอายุยืนให้มากที่สุดอย่างเร็วที่สุด
2) ก๊าซเรือนกระจกช่วงอายุสั้น ตั้งแต่ 2-3 วันไปจนถึง 20-30 ปี ถ้ามีมาตรการลดก๊าซชนิดนี้เท่ากับว่าลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เร็วขึ้น
ข้อน่าสังเกตคือเอเชียเป็นภูมิภาคที่ใช้ถ่านหินมาก ข้อมูลเมื่อปี 2558 เอเชียใช้ถ่านหินคิดเป็น 60% ของโลก การลดใช้ถ่านหินจะช่วยลดมลพิษทางอากาศที่มีช่วงชีวิตสั้น มลพิษทางอากาศอื่นๆ และสารปรอท ส่งผลให้อากาศสะอาด ดีต่อสุขภาพมนุษย์ และสภาพธรรมชาติ ตัวอย่างการลดมลพิษในชีวิต เช่น ปรับปรุงเทคโนโลยีจากยานยนต์ดีเซล, เบนซิน เปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า เตาในครัวเปลี่ยนจากเตาถ่าน เตาอั้งโล่เป็นเตาไฟฟ้า ซึ่งการใช้เตาไฟฟ้านี้เชื่อมโยงไปถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ต้องเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเช่นกัน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไม่ปล่อยมลพิษ
ตอนเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี7 ที่เมืองฮิโรชิมา ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้สร้างขบวนการเคลื่อนไหวระดับชาติเพื่อไลฟ์สไตล์ใหม่และมั่งคั่งสู่การลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อสนับสนุนพลเมืองและผู้บริโภคให้เปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 และเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 น่าสังเกตว่า แม้ประชาชน/ผู้บริโภค 90% รู้จักคำว่า “ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน” แต่ยังไม่มีการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเหตุผลเพียงว่า ไม่รู้จะทำอย่างไร
ขบวนการเคลื่อนไหวระดับชาติจึงนำเสนอไลฟ์สไตล์ใหม่เพื่อสังคมลดคาร์บอนภายใน 10 ปี เช่น บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ มีแผงโซลาร์บนหลังคา ประหยัดเงินได้ปีละ 380 ดอลลาร์, หน้าต่าง กำแพง พื้นติดฉนวนกันความร้อน ประหยัดเงินปีละ670 ดอลลาร์, ระบบน้ำร้อนประสิทธิภาพสูง ประหยัดเงินปีละ 250 ดอลลาร์, ใช้หลอดไฟ LED ประหยัดเงิน 20 ดอลลาร์ต่อปี หรือแม้แต่การทำงานที่บ้านสามารถประหยัดเงินได้ถึง 440 ดอลลาร์ต่อปี ทั้งยังประหยัดเวลา 275 ชั่วโมงต่อปี
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของไลฟ์สตไล์ใหม่ ถ้าทำได้ครบทุกอย่างจะประหยัดเงินได้ถึง 260 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 3,100 ดอลลาร์ต่อปี ได้เวลาส่วนตัวเพิ่มขึ้นมาวันละ 1 ชั่วโมง แต่ถ้ารวมทั้งปีจะได้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 388 ชั่วโมง ไม่น่าเชื่อว่า การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยไลฟ์สไตล์ใหม่จะให้ประโยชน์คืนมาได้มากขนาดนี้ วิถีการดำเนินชีวิตดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ปฏิบัติได้เฉพาะในญี่ปุ่น แต่ทำได้ทั่วโลกเพราะการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นภารกิจที่มวลมนุษยชาติต้องทำร่วมกัน
Source : กรุงเทพธุรกิจ