News & Update

ไทยเข้ายุคทอง ‘ลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัล’

จะไม่เรียกว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยดิจิทัลได้อย่างไร เมื่อชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) ประกาศจัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ที่ประเทศไทยเป็นปีแรกเมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2566 นัยสำคัญของเรื่องนี้คือชไนเดอร์ฯ ไม่ได้จัดงานประชุมระดับโลกในทุกประเทศ และเหตุผลที่ไทยถูกเลือกเป็นสถานที่จัดงานแสดงนวัตกรรมครั้งนี้คือความพร้อมที่เหนือกว่าทุกประเทศในภูมิภาคซึ่งทำให้ชไนเดอร์ฯ ต้องการส่งสัญญาณแบบดังๆ ว่า ไทยควรเริ่มภารกิจลดคาร์บอนฯ อย่างจริงจังได้แล้วตั้งแต่นาทีนี้

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเมินการจัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามท่ามกลางผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยผู้ใช้เอนด์ยูสเซอร์ ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจในองค์กร รวมถึงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศที่มารวมตัวกันในงาน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าชไนเดอร์ฯ ไม่สามารถทำภารกิจลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้ด้วยตัวคนเดียว แต่จะต้องไปพร้อมกันทั้งระบบ

‘งานนี้คืออินโนเวชันซัมมิต ไม่ได้จัดในทุกประเทศ แต่นี่คือครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย ทุกสาขาอาชีพมาร่วมกันในงานนี้เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ วัตถุประสงค์ที่ทำให้ทุกคนมารวมกันคือเพื่อร่วมแรงให้โลกใบนี้ดีขึ้น ชไนเดอร์ฯ ทำคนเดียวไม่ได้ งานนี้จะเน้นสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รู้ว่าทุกคนเป็นหนึ่งในแรงที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้’

ชไนเดอร์ฯ ย้ำว่าการลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้นเพราะการนำเอาระบบดิจิทัลมาผสมกับระบบจัดการไฟฟ้า จะไม่เพียงทำให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ระบบดิจิทัลยังทำให้สามารถวัดผลได้เป็นตัวเลข เพื่อแสดงข้อมูลว่าองค์กรมีการใช้พลังงานเท่าใด นำไปสู่การจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการใช้คาร์บอนฯ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ภาพฝันเรื่องการลดคาร์บอนฯ สูงสุดในกระบวนการจัดการพลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคที่ทุกอย่างเป็นระบบออนไลน์และดิจิทัล ภาวะที่เศรษฐกิจดิจิทัลแทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่ทำให้การใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวนับจากนี้ ข้อมูลจากชไนเดอร์ฯ พบว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า 

กระทุ้งไทยต้องเริ่มตอนนี้!

เมื่อถามถึงนัยสำคัญในเชิงกรอบเวลาว่าทำไมปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ขึ้นที่กรุงเทพฯ สเตฟานตอบว่าไม่เพียงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและตลาดที่เหนือกว่าทุกประเทศในภูมิภาคของไทย แต่การจัดงานนี้ตอกย้ำให้องค์กรไทยไม่ลืมว่าจะต้องเริ่มนำดิจิทัลมาใช้จัดการพลังงานอย่างจริงจังตั้งแต่ปีนี้ เพื่อให้เจตจำนงเรื่อง Net Zero ของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริงตามแผนที่ประกาศไว้

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค

เจตจำนงเรื่อง Net Zero ของไทยถูกประกาศอย่างเป็นทางการบนเวทีการประชุม COP 26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 นั้นจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน 2564 บนเวทีนี้ COP 26 ประเทศไทยแสดงเจตจำนงที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับประชาคมโลกอย่างจริงจังโดยกำหนดเป้าหมายหลักว่าประเทศไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ให้ได้ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065)

แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40% 2.การผลักดันการใช้พลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม อันเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3.การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งภาคเศรษฐกิจมีการปรับตัวโดยดำเนินการโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับที่กลุ่มอุตสาหกรรมในไทยต้องตื่นตัวอย่างมากตามมาตรการปรับราคาคาร์บอนฯ ก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ตรงนี้หากสินค้าไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นทางสูง อาจทำให้ต้องเสียภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) มากขึ้น เนื่องจากเป็นเหมือนการนำเข้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ประเทศปลายทาง

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค พยายามย้ำมานานแล้วว่าการนำดิจิทัลมาใช้จัดการพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยไม่เพียงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังเป็นการเปิดประตูเพื่อให้ตลาดพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy สามารถมีบทบาทในประเทศไทยได้มากกว่าปัจจุบันที่อยู่ในขั้นนำร่องเท่านั้น เป้าหมายของการจัดงานครั้งล่าสุดจึงเป็นการโชว์กรณีศึกษา และแนวคิดจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศกว่า 40 องค์กร ที่จะมาร่วมแชร์กลยุทธ์ในเส้นทางไปสู่ความยั่งยืน

ทำไมชไนเดอร์ อิเล็คทริคจึงสามารถเสนอตัวเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ได้ คำตอบคือดีกรีของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่เป็นบริษัทซึ่งทำยอดขายไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ และราว 5% ถูกจัดเป็นงบสำหรับวิจัยและพัฒนา ปัจจุบัน 74% ของรายได้ชไนเดอร์ อิเล็คทริคมาจากกรีนโซลูชัน โดยในช่วง 5 ปี กรีนโซลูชันของบริษัททำให้เกิดการลดคาร์บอนฯ 458 ล้านตัน เทียบเท่ากับคาร์บอนฯ ที่ไทยปล่อยออกมาตลอดทั้งปี

‘แปลว่าคาร์บอนฯ ที่เรากำจัดได้นั้นเหมือนการกำจัดคาร์บอนฯ ที่เมืองไทยผลิตได้ตลอด 1 ปี’ สเตฟานกล่าว ‘ไทยต้องเริ่มตอนนี้ เพราะประเทศไทยมุ่งมั่นจะลดคาร์บอนฯ 30% ซึ่งก่อนจะมีงานนี้เกิดขึ้น เรามีการสำรวจกับลูกค้า ผลพบว่า 64% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่าบริษัทของตัวเองกำลังทำเรื่องความยั่งยืน ขณะที่ 62% บอกว่ามีเป้าหมายและมีแผนงานทำเรื่องลดคาร์บอนฯ ที่ชัดเจน ขณะที่ 99% เห็นด้วยเรื่องการทำดิจิทัลจะเป็นตัวหลักที่ทำให้เกิดความยั่งยืน’

การลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

การลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

ชไนเดอร์ฯ การันตีว่าเทคโนโลยีลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัลนั้นพร้อมใช้งานแล้วโดยไม่ต้องรอ รองรับตั้งแต่ฝั่งการผลิต ฝั่งการใช้งาน และทุกส่วนที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ เบื้องต้น คาดว่าลูกค้าจะมีการใช้พลังงานดีขึ้นและประหยัดพลังงานได้กว่า 15-30% ซึ่งเป็นการลดลงที่เกิดขึ้นได้เพราะโซลูชัน

งานมอนิเตอร์ต้องมา

7 โซลูชันเด่นที่ถูกยกทัพมาโชว์ในงานนี้ประกอบด้วย

  1. เทคโนโลยี RM AirSeT และ SM AirSeT ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์อัจฉริยะแบบฝังตัวช่วยให้สามารถมอนิเตอร์ข้อมูลและมีประสิทธิภาพในการควบคุมรวมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน การจ่ายไฟฟ้าและจะช่วยให้สามารถบำรุงรักษาเชิงป้องกันและคาดการณ์การซ่อมบำรุงได้
  2. เทคโนโลยี Wiser โฮมออโตเมชัน ที่ช่วยเปลี่ยนบ้านธรรมดาให้เป็นบ้านอัจฉริยะ พร้อมความสามารถในการควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน หรือทำให้เป็นอัตโนมัติก็ได้
  3. โซลูชันอาคารยุค 4.0 ช่วยบริหารจัดการอาคาร โรงแรม และองค์กรด้านเฮลธ์แคร์ที่ต้องการประหยัดพลังงานและเพิ่มประสบการณ์ที่ดี
  4. โซลูชันไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยั่งยืน APC Micro Data Center R-Series ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้กลุ่มโกดังโรงงาน ไซต์งาน อุตสาหกรรมน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมเหมือง ไม่ต้องติดตั้งท่อน้ำยาแอร์ มีโครงสร้างแข็งแกร่งปิดสนิทอย่างแนบแน่น ป้องกันฝุ่น และความชื้น ใช้งานได้แม้ในพื้นที่ที่มีความร้อนสูง ผสานระบบรักษาความปลอดภัยชั้นยอด
  5. โซลูชันเพื่อปลดล็อคศักยภาพด้านพลังงาน และระบบออโตเมชัน ที่มุ่งแก้ปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และ
  6. Electrical Digital Twin Service (EDTS) บริการยกระดับผังวงจรของระบบไฟฟ้าทั้งโรงงาน อาคาร หรือไซต์งาน ให้เป็นดิจิทัล เป็นการทำครั้งเดียวที่ใช้ได้ตลอด ช่วยให้ง่ายในการดูแล และอัปเดตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย แถมยังลดค่าใช้จ่ายในการสร้างแบบจำลองที่มีราคาแพง ประหยัดเวลาในการรวบรวมข้อมูลใหม่ที่ใช้เวลานาน
  7. อุปกรณ์และระบบสำหรับเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าสำหรับอาคารและสถานีชาร์จ ได้แก่ EVlink Pro AC แบบใช้ไฟฟ้า 3 เฟส ให้พลังในการชาร์จ 7.4 kW, 11 kW, 22 kW และ EVlink Pro DC โฟกัสการทำสถานีเป็นหลัก ตัวเครื่องทนทานใช้งานในสถานที่เปิดได้อย่างดี สามารถรองรับการชาร์จได้รวดเร็ว ตั้งแต่ 120-180 kW สามารถใช้งานพร้อมกันได้ถึง 2 หัวจ่ายต่อเครื่อง มาพร้อมโซลูชัน EV Charging expert ช่วยในเรื่องการบริหารจัดการโหลดพลังงานทั้งหมดให้เพียงพอในการชาร์จ และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานพลังงานในส่วนอื่น เช่น อาคาร หรืออุปกรณ์ชาร์จตัวอื่นๆ และ EV Advisor ช่วยในการมอนิเตอร์สถานะของเครื่องชาร์จทั้งหมด
เนื้อหาน่าสนใจ :  รัฐบาลเร่งปลดล็อค"โซลาร์รูฟท๊อป"ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน

‘ทุกเทคโนโลยีมีความต้องการสูงในประเทศไทย แต่ที่เด่นมากนั้นมี 3 เทคโนโลยี คือ 1.สเตชันชาร์จรถไฟฟ้าที่จะใช้เวลารวดเร็ว 30 นาที 2.ซอฟต์แวร์ใหม่ที่องค์กรจะตรวจดูได้แบบเรียลไทม์ว่าหน่วยงานมีการปล่อยคาร์บอนฯ เท่าใด เพื่อให้สามารถตรวจจับและรู้ตัวเลขคาร์บอนฯ ที่แม่นยำ และ 3.ตู้สวิตช์เกียร์รุ่นใหม่ที่ไม่ใช้ก๊าซ SF6 แต่ใช้อากาศบริสุทธิ์แทน’

อิมแพกต์ที่จะเกิดหากประเทศไทยมีการใช้ 3 เทคโนโลยีนี้อย่างแพร่หลายคือการมีทิศทางที่ชัดเจน สเตฟานอธิบายว่าเมื่อบริษัทรู้ว่าตัวเองปล่อยคาร์บอนฯ เท่าใด จะทำให้เกิดการตรวจและวิเคราะห์ระบบภายในอย่างจริงจังจึงจะได้รู้ว่าควรจะทำอะไรต่อ ทำให้สิ่งไม่เคยเห็นมาก่อนสามารถได้เห็นชัดขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ถูกจุด

ทั้งหมดนี้จะตอบความคาดหวัง 2 ด้านของชไนเดอร์ฯ คือการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น จะสร้างความยั่งยืนมากขึ้นให้องค์กรไทย และจะลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุน เพิ่มกำไรมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก และด้านที่ 2 คือการทำให้องค์กรเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้นทำใ้ห้เกิดผลดี เกิดการผลิตมากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีการนำ AI เข้ามาเพิ่มความเสถียร ช่วยแจ้งเตือนว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง เป็นการวิเคราะห์ล่วงหน้าที่ไม่ต้องรอว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ทำให้ลดการเสียหายจากการแก้ปัญหาไม่ทัน

ยุคทองของไทยต่อการ ‘ลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัล’ จึงกำลังเกิดขึ้นในปีนี้

Source : MGRonline

Tags:

กรมธุรกิจพลังงาน เดินหน้าเอาผิดปั๊มที่เติมน้ำมันกลายเป็นน้ำ เข้าแจ้งความ 2 ข้อหา สั่งผู้ค้ารายอื่นเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนด่วน

รัฐมนตรีพลังงาน สั่งกรมธุรกิจพลังงาน เร่งเอาผิดปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งใน อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี กรณีเติมน้ำมันกลายเป็นน้ำ หลังผู้เสียหายร้องเรียนพลังงานจังหวัด เล็งเพิกถอนใบอนุญาตเปิดปั๊ม ล่าสุดอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พร้อมแจ้งความดำเนินคดีแล้ว คาดโทษ…

SWISS AIR ประกาศเป็นสายการบินแรกของโลก ที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานแสงอาทิตย์

สายการบินนานาชาติแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SWISS) และบริษัทแม่อย่าง Lufthansa Group เป็นหนึ่งในหลายองค์กรที่คำนึงถึงความสำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอน จึงปฏิวัติวงการการบินด้วยการนำเชื้อเพลิงที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับเครื่องบินเป็นครั้งแรก ปัญหาพลังงานขาดแคลน และการตะหนักถึงความขาดแคลนของทรัพยากรน้ำมัน ดูจะเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะมันคือปัญหาที่กำลังจะคืบคลานมาเล่นงานคนทั่วโลกในอนาคตอันใกล้…

Leave a Reply