Highlight & Knowledge

รู้จักกับ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid)

หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ในประเทศไทยนั้นได้มีการทำโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด กันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำปกติ ตรงที่มีการผสมผสานระหว่างการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำร่วมกันนั่นเอง ในบ้านเราก็มีการทำกันมาตั้งแต่ปี 2654 ในช่วงนั้นก็ถือได้ว่าเป็นโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

ในช่วงแรกของการเปิดตัวโครงการนั้น มีดราม่าเกิดขึ้นพอสมควร หลายคนกังวลว่า การเอาแผงโซลาร์เซลล์ไปวางไว้บนผิวน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนไป จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาหรือไม่ มีผลต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน พวกปลา พืช และสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้น้ำจะได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมถึงแสงสะท้อนจากแผงโซลาร์เซลล์ จะมีผลต่อพวกสัตว์ปีกหรือเปล่า รวมถึงเรื่องของค่าไฟที่หลายคนกังวลว่าจะสูงขึ้นหรือไม่

ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร มีขนาดประมาณสนามฟุตบอล 70 สนาม มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง แบ่งออกเป็น 7 ชุด บนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนไม่ถึง 1% ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ และทุ่นลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยมีการวางแผงโซลาร์เซลล์ให้มีมุมเอียง มีช่องว่างระหว่างแผงและทุ่นลอยน้ำ แสงแดดสามารถลอดผ่านลงในน้ำได้ จึงไม่กระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ และล่าสุดยังได้มีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย โรงไฟฟ้าแห่งนี้เริ่มจ่ายกระแสไฟมาตั้งแต่ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 กำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 45 เมกะวัตต์

โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด แห่งที่ 2

ในปี 2566 ทางกฟผ. ก็ได้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด แห่งที่ 2 ขึ้นแล้ว ซึ่งอยู่ที่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้มีการต่อยอดเพิ่มเติมจากโครงการเดิม คือ การติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) แบบลิเธียมไอออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ที่เข้ามาช่วยในเรื่องของระบบการจ่ายไฟที่มีความเสถียรมากยิ่งขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนระบบการผลิตไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานน้ำ สำหรับโครงการแห่งนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายปี 2567 นี้ ตัวโครงการใช้พื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ ใช้แผงโซลาร์เซลล์จำนวน 48,000 แผงเชื่อมต่อเข้ากับทุ่นลอยน้ำ แล้วก็เชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าเข้ากับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 47,000 ตันต่อปี 

ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 10 – 15 และใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) เป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม สามารถทนต่อรังสี UV ได้เป็นอย่างดี มีอายุการใช้งานนานประมาณ 25 ปี

ข้อดีของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ

  • เป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
  • ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
  • ช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งช่วยรักษาปริมาณน้ำและลดความต้องการน้ำ
  • ช่วยลดอุณหภูมิของน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำบางชนิด
  • สามารถใช้พื้นที่ผิวน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
  • สามารถลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
  • สามารถเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดนั้น ถือได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าแบบเดิมๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งก่อนให้เกิดมลภาวค่อนข้างมาก โดยโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานจากน้ำ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดก๊าชคาร์บอนไดออกไซค์ และยังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอีกด้วยเพราะสามารถใช้อุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมได้ทั้งหมด

กฟผ. ยังมีแผนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ในอ่างเก็บน้ำอีกกว่า 16 โครงการทั่วประเทศ ได้แก่ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งถ้าดำเนินการเสร็จทั้งหมดจะมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 2,725 เมกะวัตต์เลยทีเดียว

ภาพประกอบ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

รู้จัก ไบโอชาร์ ถ่านชีวภาพที่ช่วยปรับปรุงดินและลดโลกร้อน

วันนี้เราจะมารู้จักกับ ไบโอชาร์ หรือเรียกกันว่าถ่านชีวภาพ ซึ่งเป็นถ่านรูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์มากกับภาคเกษตร และยังช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย แต่เดิมถ้าพูดถึงถ่าน เราก็อาจจะรู้จักว่า ถ่านก็คือถ่านที่เราใช้ในการก่อไฟ หรือถ่านทั่วไป ที่ได้จากการเผาโดยวิธีดั้งเดิม…

ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจหนุนไทยสู่เป้า Net Zero ท้าทายรับมือลดฟอสซิลเพิ่มพลังงานสะอาด

กางผลสำรวจบิ๊ก ส.อ.ท. 70.7% หนุนไทยก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2065 รับเป็นประเด็นท้าทายการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ลดฟอสซิลและการจัดหาพลังงานสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยภาคพลังงานและขนส่งเป็นภาคสำคัญสุด กังวลมาตรการดังกล่าวดันต้นทุนพุ่ง

รู้จัก “น้ำมันเชื้อเพลิงจากยีสต์” เพื่อสังเคราะห์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน

นักวิจัยจากจุฬา ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีการขยายขนาดการผลิตน้ำมันจากยีสต์เพื่อสังเคราะห์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน” (Development of scaling-up technology for production of microbial lipid…

Leave a Reply