Highlight & Knowledge

หน้าร้อน ทำไมค่าไฟแพง?

ช่วงนี้มีแต่คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าค่าไฟแพงมาก บางคนค่าไฟขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว เรียกได้ว่า ทำงานหาเงินมาเพื่อจ่ายค่าไฟกันเลยทีเดียว วันนี้ทีมงานก็ได้ทำการหาข้อมูลเรื่องของค่าไฟแพงมา ซึ่งมาจากการให้ความรู้จากกูรูหลายท่าน รวมถึงการไฟฟ้าก็มีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เรื่องค่าไฟแพงออกมาเช่นกัน โดยเราได้ทำการสรุปและรวบรวมเอาไว้ในบทความนี้เรียบร้อยแล้ว

หน้าร้อน ทำไมค่าไฟแพง?

เป็นคำถามแรกที่ทุกคนต้องถามเมื่อเห็นบิลค่าไฟในช่วงหน้าร้อน เมื่อก่อนอาจจะดูเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้ทุกหน้าร้อนมันขึ้นตลอดจนสงสัยว่า หน้าร้อน ทำไมค่าไฟแพง ก็มาดูสาเหตุที่มีการวิเคราะห์กันออกมาได้ดังนี้

1.รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป

ตั้งแต่เกิดโควิทขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานของเราเปลี่ยนไป มีการทำงานแบบ Work from home มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นนั่นเอง เพราะหลายคนที่ทำงานแบบ Work from home ก็จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ สำหรับทำงานที่บ้าน แน่นอนว่าต้องใช้ไฟมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนทำงานไปก็เปิดแอร์ไปด้วย เพราะเคยชินกับการทำงานในห้องแอร์ที่ออฟฟิศนั่นเอง และถ้าบ้านไหนมีคนที่เปลี่ยนมาทำงานแบบ Work from home มากขึ้นกว่า 1 คน เราก็จะเสียค่าไฟเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ

2.อากาศที่ร้อน ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้ายิ่งกินไฟมากขึ้น

สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ พวกนี้ ในหน้าร้อนจะกินไฟมากขึ้นกว่าปกติ เพราะว่าจะต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อที่จะสามารถใช้ความเย็นได้เท่าเดิมนั่นเอง โดยปกติแล้ว ถ้าไม่ใช้หน้าร้อน การทำงานที่จะปรับความเย็นให้ได้ตามที่ผู้ใช้กำหนดนั่น ก็จะใช้ระยะเวลาไม่นานสักเท่าไหร่ เพราะอากาศมันไม่ได้ร้อน แต่ถ้าอากาศร้อนก็จะต้องใช้เวลาในการทำความเย็นมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนี้กินไฟมากขึ้น

โดยทางกระทรวงพลังงานได้มีการเผยแพร่ข้อมูล ในการทดสอบเปิดแอร์ขนาด 12,000 BTU ที่ 26 °C ในอากาศที่ร้อนต่างๆ กันได้ผลออกมาดังนี้

อุณหภูมิภายนอก 35°C

  • เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟชั่วโมงละ 0.69 หน่วย
  • คิดเป็นเงิน 2.69 บาท/ชั่วโมง
  • เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง/วัน ใช้ไฟ 5.52 หน่วย/วัน
  • คิดเป็นเงิน 21.52 บาท/วัน
  • ค่าไฟต่อเดือน (30 วัน) จะอยู่ที่ 645.60 บาท

อุณหภูมิภายนอก 41°C

  • เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟชั่วโมงละ 0.79 หน่วย
  • คิดเป็นเงิน 3.08 บาท/ชั่วโมง
  • เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง/วัน ใช้ไฟ 6.32 หน่วย/วัน
  • คิดเป็นเงิน 24.64 บาท/วัน
  • ค่าไฟต่อเดือน (30 วัน) อยู่ที่ 739.20 บาท

จากการทดสอบนี้ก็สามารถอ้างอิงได้ว่า ในหน้าร้อนเครื่องปรับอากาศก็จะต้องกินไฟมากกว่าอย่างแน่นอน ยิ่งในพื้นที่ที่ร้อนกว่านี้ ก็จะกินไฟมากกว่านี้อีก ถ้าเทียบเป็นการกินไฟนั้นก็คำนวณได้ว่า หากร้อนขึ้น 1 องศา จะกินไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 3.07%

3.ช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงปิดเทอมของเด็กๆ

ในข้อนี้ดูแล้วไม่น่าจะเป็นสาเหตุได้ แต่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุจริงๆ นั่นแหละครับ เพราะช่วงเด็กปิดเทอม ก็จะอยู่บ้าน และเด็กโดยปกติเมื่ออยู่บ้านแล้ว ไม่ค่อยอยู่เฉยๆ กันสักเท่าไหร่ ต้องหาอะไรทำ ไม่ว่าจะเล่นเกม ดูทีวี หรือทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่บ้านอากาศร้อนก็ต้องเปิดพัดลม บางคนก็เปิดแอร์ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ไฟอย่างเดียวนะครับ ยังมีค่าขนม ค่ากิน อะไรตามมาอีกมากมาย

4.ค่าไฟในไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้า

ค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้า ถ้าให้อธิบายกันง่ายๆ ก็คือ คนใช้ไฟเยอะ จะเสียค่าไฟต่อหน่วยสูงกว่าคนที่ใช้ไฟน้อยนั่นเอง ซึ่งจะกำหนดค่าไฟต่อหน่วยเป็นลำดับขั้น ตามภาพด้านล่างนี้ (ตัวอย่าง)

5.การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผิดวิธี

สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก็มาจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผิดวิธี หรือผิดจากวัตถุประสงค์ของเครื่องใช้ไฟฟ้านั่นเอง การใช้แบบผิดวิธี ตัวอย่างเช่น การนำของร้อนไปแช่ในตู้เย็น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยๆ จนตู้เย็นไม่สามารถกักเก็บความเย็นได้เป็นต้น หรือจะเป็น การเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับห้องที่ใช้ เช่น ขนาดเล็กเกินไป ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานตลอดเวลาเพื่อทำความเย็น ก็จะใช้ไฟมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการใช้เครื่องไฟฟ้าที่มีปัญหาไม่ยอมเอาไปซ่อม ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นได้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้ก็เป็น 5 สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นครับ

วิธีคำนวนค่าไฟฟ้า

ตอนนี้มาดูกันต่อว่า ค่าไฟฟ้า ที่เขามาเก็บจากเรานั้น เขาคิดมาจากไหน จะได้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น สำหรับค่าไฟฟ้าก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันดังนี้

ส่วนที่ 1 ค่าไฟฟ้าพื้นฐาน : ค่าพลังงานไฟฟ้า + ค่าบริการ
ส่วนที่ 2 ค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) : จำนวนพลังงานไฟฟ้า x ค่า FT
ส่วนที่ 3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม : (ค่าไฟฟ้าพื้นฐาน + ค่า FT) x 7/100

*ค่า FT คือ ค่าผันแปรที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของการไฟฟ้า คือ ค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า ที่เป็นต้นทุนของการจำหน่ายไฟฟ้า มีการปรับขึ้น และปรับลง ตามตัวแปรต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้

สำหรับค่าไฟฟ้าแพงนั้น ก็ต้องบอกว่า แพงยังไงก็ต้องจ่าย แต่ก่อนจ่าย เราคงต้องหาวิธีประหยัดด้วย ไม่งั้นค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การตั้งอุณหภูมิแอร์ให้สูงขึ้น เช่น แต่เดิมเคยเปิดที่ 24 – 25 องศา ก็อาจจะปรับเป็นที่ 26 – 27 องศา ถ้ารู้สึกร้อนก็อาจจะใช้วิธีเปิดพัดลมช่วย ซึ่งหลายคนก็พิสูจน์มาแล้วว่า ช่วยลดค่าไฟได้จริง หรือใครที่เคยเปิดพัดลมแอร์เบอร์สูงสุดให้เป่าเขาตัวแบบฉ่ำๆ ก็อาจจะปรับไปที่เบอร์ 1 หรือ 2 แทน ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยลดค่าไฟได้จริงๆ มีหลายคนทดสอบแล้วเอามาแชร์ในโซเชียลมีเดียมากมาย

นอกจากนี้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนการใช้งานด้วย เช่น ไม่เปิดปิดตู้เย็นบ่อยๆ ไม่เอาของร้อนไปแช่ในตู้เย็นทันที อาจจะตั้งไว้ข้างนอกให้หายร้อนก่อน ค่อยเอาไปแช่ บางคนที่ในบ้านมีทีวีหลายเครื่องปกติดูช่องเดียวกัน หรือหนังเรื่องเดียวกัน แยกกันดู อาจจะนัดกันมาดูด้วยกันแทน ปิดไฟที่ไม่ได้ใช้ ปิดคอมพิวเตอร์ทุกครั้งหลังใช้งาน แม่บ้านที่เคยเสียบปลั๊กหม้อหุงข้าว เพื่ออุ่นข้าวให้ร้อนตลอดวัน ตลอดคืน ก็อาจจะถอดปลั๊ก แล้วเอาข้าวไปแช่ตู้เย็นแทน จะกินเมื่อไหร่ ก็ตักแค่พอกินมาใส่ไมโครเวฟเพื่อทำให้อุ่น

เนื้อหาน่าสนใจ :  เงินฝากสีเขียว เงินฝากรูปแบบใหม่ เพื่อสิ่งแวดล้อม

ก็ไปลองทำกันดูนะครับ จะได้ช่วยลดค่าไฟลงได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

Photo : Freepik

รู้จักกับ ข้าวลดโลกร้อน จากชาวนารักษ์โลก

ไม่น่าเชื่อว่าการปลูกข้าวก็สามารถทำให้โลกร้อนได้เช่นกัน นั่นเป็นเพราะว่า การปลูกข้าวแบบเดิมๆ นั้น จะมีการปล่อยให้น้ำขังอยู่ในนานั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดการหมักหมมทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ดังนั้นจะมีการคิดค้นวิธีการปลูกข้าวแบบใหม่ ให้เป็น ข้าวลดโลกร้อน ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า…

พลาสติก PCR พลาสติกรีไซเคิลระดับ Food Grade ที่มาแรงที่สุดในขณะนี้

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ขวดใส่น้ำใสๆ กล่องใส่อาหารที่เป็นพลาสติกใสๆ ที่เราใช้อยู่เป็นพลาสติกแบบรีไซเคิลระดับ Food Grade เพราะเข้าใจกันมาตลอดว่าพวกพลาสติกรีไซเคิลนั้น จะไม่สามารถนำมาใช้ใส่อาหารได้ ซึ่งบทความนี้จะพาทุกท่านมารู้จักกับ พลาสติก…

StoreDot แบตเตอรี่สำหรับรถ EV ชาร์จจาก 10% ไป 80% ได้ใน 10 นาที

StoreDot EV Battery คือแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดใหม่ ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท StoreDot สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล มีความพิเศษกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเดิมๆ ที่เด่นชัดมากทึ่สุดคือ ความเร็วในการชาร์จแบตจาก…

Leave a Reply