ด้วยกระแสของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการคิดค้นนวตกรรม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดออกมา มากมาย แม้แต่ธนาคาร ก็ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) ซึ่งเราคงคุ้นเคยกับ หนึ่งในบริการที่มีชื่อว่า สินเชื่อสีเขียว กันมาแล้ว และแน่นอนว่าหลายท่านอาจจะมีโอกาสได้ใช้กัน บางท่านอาจจะเอามาใช้สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่กำลังนิยมในขณะนี้ และอีกหลายๆ ท่านที่ทำธุรกิจ อาจจะมีการใช้สินเชื่อสีเขียวสำหรับจัดการเรื่องพลังงานในธุรกิจกันมาแล้ว
เงินฝากสีเขียว (Green Deposit) ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่มีการเปิดให้บริการมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่หลายท่านยังไม่รู้ว่ามีบริการนี้ด้วย โดยในประเทศไทยต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ และยังคงต้องติดตามดูว่า สุดท้ายแล้ว จะมีการพัฒนาและเติบโตได้แค่ไหน สำหรับเงินฝากสีเขียวนั้นก็เป็นเงินฝากประเภทหนึ่งในรูปแบบของเงินฝากประจำ ซึ่งจะมีระยะเวลาแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร แต่โดยรวมแล้วก็จะคล้ายกับบริการเงินฝากประจำ โดยธนาคารจะนำเงินฝากสีเขียวนั้นไปใช้ในกิจกรรมของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจสีเขียว เป็นต้น
เงินฝากสีเขียว กับ เงินฝากทั่วไป ต่างกันอย่างไร
ก่อนจะไปดูความแตกต่าง มาดูว่าเงินฝากสีเขียว กับเงินฝากทั่วไป เหมือนกันมั้ย ต้องบอกว่า ทั้ง 2 แบบนั้น เป็นเงินฝากประจำเหมือนกัน ก็คือ เป็นบัญชีเงินฝากที่มีการกำหนดระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ย เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนความแตกต่างนั้นจะอยู่ที่วัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ของธนาคารนั่นเอง หากเป็นเงินฝากประจำทั่วไป ปกติธนาคารจะนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับคนทั่วไป หรือสินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการต่างๆ แต่เงินฝากสีเขียวนั้น ธนาคารจะนำเงินฝากนั้นไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เช่น ธุรกิจด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน โดยธนาคารจะเป็นผู้พิจารณาว่าธุรกิจนั้นเข้าเงื่อนไขตามที่ธนาคารได้กำหนดไว้หรือไม่ ก็สรุปได้ว่า เงินฝากสีเขียว จะนำไปปล่อยสินเชื่อสีเขียวเท่านั้น จะไม่มีการนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อทั่วๆ ไป
เงินฝากสีเขียว
- เป็นเงินฝากประจำ
- มีระยะเวลาฝากที่แน่นอน
- ผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าเงินฝากประจำทั่วไป
- เงินฝากจะถูกนำไปสนับสนุนโครงการสีเขียว
เงินฝากประจำ
- มีหลายประเภท เช่น เงินฝากประจำปลอดภาษี เงินฝากประจำพิเศษ
- ระยะเวลาฝากและผลตอบแทนขึ้นอยู่กับประเภท
- ไม่ได้ระบุว่าเงินฝากจะถูกนำไปใช้เพื่ออะไร
เงินฝากสีเขียวในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย จากการหาข้อมูลของธนาคารต่างๆ พบว่า ล่าสุดมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เปิดบริการเงินฝากสีเขียว โดยเป็นบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจเท่านั้น ใช้ชื่อว่า Sustainable Deposit หรือ เงินฝากเพื่อความยั่งยืน ลูกค้าธุรกิจที่ต้องการใช้บริการ ต้องมีคุณสมบัติตรงกับที่ทางธนาคารกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งก็มีข่าวออกมาว่า ตอนนี้มีโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายแรกที่ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายแรกที่รับการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) และออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) โดยผสานความร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในการนำเสนอออกสู่ตลาด ตั้งแต่ปี 64
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า มีธนาคารอื่นๆ เช่น ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ก็มีผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากสีเขียวสกุลเงินบาทเช่นกัน โดยมีตั้งแต่ปี 64 แล้ว เพื่อสนับสนุนลูกค้าประเภทองค์กร ร่วมพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสานต่อพันธกิจของธนาคารในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 และมีบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดของไทย ได้ร่วมประเดิมเปิดบัญชีเงินฝากสีเขียวในสกุลเงินบาทเป็นรายแรกๆ
ข้อดีของเงินฝากสีเขียว
- สร้างผลตอบแทนทางการเงิน: ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝาก
- สร้างผลตอบแทนทางสังคม: ร่วมสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดี: แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
ข้อเสียของเงินฝากสีเขียว
- ผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าเงินฝากประจำทั่วไป
- ตัวเลือกยังมีน้อย ธนาคารที่เปิดให้บริการเงินฝากสีเขียวยังมีจำนวนจำกัด
เงินฝากสีเขียว ยังถือว่าใหม่ในบ้านเราพอสมควร หากเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจไหนที่อยากสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และยังได้รับอัตราดอกเบี้ยจากการฝากเงิน เงินฝากสีเขียว ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก อาจจะมีการแบ่งเงินในธุรกิจบางส่วนมาใช้บริการเงินฝากสีเขียวก็ได้ ซึ่งได้ทั้งภาพลักษณ์ที่ดี และร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้บริการก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ จากธนาคารด้วยความละเอียดรอบคอบด้วย
Photo : Freepik