ถือเป็นความสำเร็จของคนไทย โดยทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ได้คิดค้นแบตเตอรี่กราฟีน และตั้งเป็นโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่กราฟีน
รวมถึงนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และในระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้
รศ.ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวว่า ปัจจุบัน สจล. อยู่ระหว่างการวิจัยแบตเตอรี่กราฟีน เพื่อนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System) ซึ่งทาง สจล. นั้นสามารถที่จะผลิตวัสดุ “กราฟีน” ได้เองจากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีน ที่ตั้งอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ สจล.
รศ.ดร.สุธี ชุติไพจิตร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ สจล. กล่าวว่า งานวิจัยวัสดุกราฟีน และการต่อยอดพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ โดยการร่วมมือกับบริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี ที่ดำเนินธุรกกิจเกี่ยวกับ พลังงานทดแทนถือเป็นต้นแบบที่สำคัญในการสร้างร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์และหน่วยงานภายนอก ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมอีกมากมายที่เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ หัวหน้าทีมงานวิจัย กล่าวว่า กราฟีน เป็นวัสดุนาโน มีพื้นผิวจำเพาะสูง และยังนำไฟฟ้าที่ดีมาก จึงเหมาะสมสำหรับการนำมาพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ ให้สามารถกักประจุไฟฟ้าได้สูงและชาร์จได้เร็ว เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าทดแทนแบตเตอรี่แบบเดิม สำหรับใช้กับงานกับระบบ BESS (Battery Energy Storage System) และในรถยนต์ไฟฟ้า ให้ขับขี่ได้ระยะทางไกล และยังเป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดการระเบิดและไม่ติดไฟได้ในขณะใช้งาน สามารถชาร์จซํ้าได้จำนวนหลายรอบ
นอกจากนี้ แบตเตอรี่กราฟีน ยังประหยัดต้นทุนเพราะสามารถผลิตกราฟีนเองได้ในประเทศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ยิ่งกว่านั้น กราฟีน ยังเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ ตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการลดลงของคาร์บอนไดออกไซด์ได้เมื่อมีการนำแบตเตอรี่มาใช้ในกักเก็บไฟฟ้าและใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
สำหรับอนุพันธ์กราฟีน (Graphene) ร่วมทั้ง วัสดุกราฟีนออกไซด์ และ รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ (ที่ผลิตได้จากโรงงานต้นแบบเป็นวัสดุนาโน บางหนึ่งอะตอมของคาร์บอน โครงผลึกเกิดจากอะตอมคาร์บอนเรียงตัวเชื่อมต่อกันเป็นรูปหกเหลี่ยม ลักษณะโครงสร้างคล้ายของรังผึ้ง เมื่อนำกราฟีนมาวางซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น ก็คือวัสดุแกรไฟต์ในใส่ดินสอ กราฟีนมีคุณสมบัติเด่นอันที่ประโยชน์ต่อการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ มากหมาย อาทิ นำไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดง แกร่งกว่าเหล็ก มีความยืดหยุ่นสูง นํ้าหนักเบา และยังมีพื้นผิวจำเพาะสูง นำไฟฟ้าที่ดี
นายวัชรินทร์ อินเมฆ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า จากความสำเร็จของ สจล. ที่คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม แบตเตอรี่กราฟีน บริษัทจึงได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันเพื่อร่วมวิจัยและพัฒนา แบตเตอรี่กราฟีน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ Green Energy and Green Community นำไปสู่การขยายผลไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน การสร้างจุดชาร์จไฟฟ้า และช่องทางการจัดจำหน่าย
Source : ฐานเศรษฐกิจ