นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์ แอมเฮิร์สต์ ในสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าได้คิดหาวิธีสร้างไบโอฟิล์มหรือฟิล์มชีวภาพที่เก็บเกี่ยวพลังงานจากการระเหยและแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ไบโอฟิล์มนี้จะมีศักยภาพที่จะปฏิวัติโลกของอุปกรณ์อิเล็ก ทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ หรือให้พลังงานกับเครื่องตรวจวัดเซ็นเซอร์ทางการแพทย์ส่วนบุคคล ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล
ทีมวิจัยระบุว่าไบโอฟิล์มที่คิดค้นใหม่นี้ ทำมาจากเซลล์แบคทีเรียแผ่นบางๆ ที่มีความหนาเทียบเท่ากระดาษ 1 แผ่น มาจากแบคทีเรียชื่อ จีโอแบคเตอร์ ซัลเฟอร์รีดิวเซนส์ (Geobacter sulfurreducens) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในการผลิตกระแสไฟฟ้าและเคยถูกใช้ในแบตเตอรี่จุลินทรีย์ เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ไบโอฟิล์มชนิดใหม่นี้ จะสามารถจ่ายพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ทำงานได้และทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะแบคทีเรียตายแล้ว และเนื่องจากมันตายแล้วจึงไม่จำเป็นต้องให้อาหาร
ทั้งนี้ ไบโอฟิล์มแบบเล็ก บาง ใส ที่ออกแบบมาใหม่นี้จะผลิตพลังงานจากความชื้นบนผิวร่างกายคนเรา ซึ่งก็คือเหงื่อที่ออกตลอดเวลา ไบโอฟิล์มจะทำหน้าที่เหมือนเสียบปลั๊กและเปลี่ยนพลังงานที่ถูกกักไว้ในการระเหยให้เป็นพลังงานที่เพียงพอสำหรับจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ขนาดเล็ก อย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ จะทำให้อุปกรณ์จำพวกนี้ชาร์จพลังงานได้ตลอด ในเวลาที่แบตเตอรี่หมด แถมยังลดความเทอะทะ หนัก อึดอัดได้ด้วย.
(ภาพประกอบ Credit : Liu et al., 10.1038/s41467-022-32105-6)
Source: ไทยรัฐ ออนไลน์