ในที่สุด รัฐก็ประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.- 20 ก.ค. ซึ่งมีวาระการพิจารณาทุกๆ 2 เดือน
หลังรับแรงกดดันจากทุกภาคส่วนเพราะน้ำมันดีเซลนั้นถือเป็นต้นทุนที่สำคัญในภาคการผลิตและค่าขนส่ง การปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวอย่างแท้จริงตามกลไกของตลาดโลกจึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียมากกว่าได้ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์มหภาค
โดยปกติแล้วราคาน้ำมันหน้าปั๊มที่เราเติมกันอยู่ทุกวัน นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่แปรผันตามราคาที่กำหนดโดยอุปสงค์อุปทานในตลาดโลกแล้ว ยังประกอบไปด้วยค่าต่างๆ อีก 5 องค์ประกอบ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมราคาน้ำมันของไทยและเพื่อนบ้านจึงไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าราคาต้นทุนน้ำมันอ้างอิงจากตลาดโลกจะมีราคาเท่ากันก็ตาม
องค์ประกอบอีก 5 ส่วนที่ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย ได้แก่
- ภาษีสรรพสามิต คิดที่อัตรา 1-7 บาทต่อหน่วย
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปัจจุบันจัดเก็บที่ 7% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีสินค้าทั่วไป
- ภาษีเทศบาล คิดที่อัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิตเพื่อนำเงินไปใช้บำรุงท้องถิ่น
หากกรุ๊ปรวมองค์ประกอบ 1-3 เฉพาะด้านภาษีต่างๆ แล้วจะพบว่าคิดเป็น 30-40% ของต้นทุนเลยทีเดียวและเห็นได้ว่า ภาษีสรรพสามิตที่คิดเป็นหน่วยบาทต่อหน่วยมิใช่ % แบบภาษีแบบอื่นนั้น ถือเป็นภาษีที่ประชาชนต้องรับภาระหนักที่สุด ดังนั้นการลดภาษีในส่วนของสรรพสามิตนั้นถือว่าสมควรแล้ว
4. กองทุนต่างๆ คิดโดยประมาณเป็น 5-20% อาทิ กองทุนน้ำมันซึ่งหลักการก็เพื่อรักษาเสถียรภาพและเพื่อจัดการความผันผวนของราคาน้ำมันที่ขึ้นลงตลอด นอกจากนี้ยังมีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนพลังงานทางเลือกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ณ ราคาปัจจุบัน กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานจัดเก็บอยู่ที่ 0.12-9.71 บาท แตกต่างกันไปตามประเภทของน้ำมันและข้อกำหนดยกเว้นการจัดสรรเงินเข้ากองทุน อาทิ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 นั้นถูกจัดเก็บเข้ากองทุนนี้ถึง 7 บาทกว่า ขณะที่แก๊สโซฮอล์ E20 ถูกจัดเก็บเพียง 0.12 บาท นี่คือเหตุผลว่าทำไมน้ำมันเบนซิน 95 ถึงราคาแพงนัก
และสุดท้าย 5. ค่าการตลาดซึ่งประมาณการได้ที่ 10-18% ตามแต่ประเภทของน้ำมันและบริษัท ซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าขนส่ง ค่าบริการและกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ณ ราคาปัจจุบันค่าการตลาดนั้นอยู่ที่ 1.20-6.40 บาท ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยโดยเฉพาะกับแก๊สโซฮอล์ E85 ที่จัดเก็บสูงที่สุดกว่าน้ำมันประเภทอื่นๆ (ที่ 6.40 บาท)
จะเห็นได้ว่า โครงสร้างที่ซับซ้อนของราคาน้ำมันนั้น แท้จริงแล้วเป็นราคาต้นทุนน้ำมันหน้าโรงงานอยู่ที่ 40-60% เท่านั้นซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทของน้ำมัน แต่ต้นทุนอีกส่วนเกือบหรือกว่าครึ่งของราคาขายปลีกนั้นมาจากภาษีต่างๆ กองทุนต่างๆ และค่าการตลาด จึงทำให้ราคาน้ำมันในไทยนั้นแตกต่างจากนานาประเทศ
ถูกต้องแล้วที่เราจำเป็นต้องอ้างอิงราคาน้ำมันตามตลาดโลกและการผันผวนของราคาน้ำมันนั้นก็ยากที่จะควบคุมได้ แต่ปัจจัยต่างๆ อีกกว่าครึ่งนั้นแท้จริงแล้ว สามารถบริหารจัดการได้ และหลายประเทศก็กำลังบริหารจัดการอยู่เพื่อลดภาระของประชาชน
สมควรแล้วที่รัฐออกมาประกาศลดภาษีสรรสามิตเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ถึงจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนในยามยากลำบากลงได้บ้าง
Source : กรุงเทพธุรกิจ