สรรพสามิตยันลดภาษีรถอีวีเหลือ 2% มีผลในสัปดาห์นี้ คาดค่ายรถทยอยส่งมอบได้อีก 1,500 คัน แย้มรถยนต์ไฟฟ้าค่าย “ญี่ปุ่น-จีน” จ่อเข้าร่วมอีก 3-4 ราย ส่วนจักรยานยนต์ “ไทย-จีน” เตรียมเข้ามาตรการอีก 2-3 ค่าย ฟากสมาชิก ส.อ.ท.กลุ่มยานยนต์ร้องภาษีนำเข้าไม่เท่าเทียม จี้คลังปรับโครงสร้างอีกรอบ
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต เปิดเผยว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่มีการลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จาก 8% เหลือ 2% คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยน่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในวันที่ 8 มิ.ย. และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป
ซึ่งเชื่อว่าค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์จะทยอยเข้ามาเซ็นสัญญาเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้อีวีจากรัฐบาลมากขึ้น โดยในปี 2565 นี้ ประเมินไว้เบื้องต้นว่าจะมีทั้งค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นและจีนอีกอย่างน้อย 3-4 ค่าย และค่ายรถจักรยานยนต์จากไทยและจีนอีกอย่างน้อย 2-3 ค่าย มาเข้าร่วมมาตรการ
สำหรับค่ายรถยนต์ที่เปิดให้จองรถอีวีไปก่อนหน้านี้ ได้มีการทยอยส่งมอบรถให้ลูกค้าไปแล้วประมาณ 500 คัน และคาดว่าหลังจากโครงสร้างภาษีมีผลบังคับใช้ แต่ละค่ายรถจะทยอยส่งมอบรถให้ลูกค้าได้อีกประมาณ 1,500 คัน
ทั้งนี้ จากการที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ไปโรดโชว์ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับแผนหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น จากเดิมในปี 2573 เป็นภายในปี 2569
“ปัจจุบันค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นที่เซ็นสัญญาเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว คือ โตโยต้า เราคาดว่าหลังจากนี้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายอื่น ๆ จะทยอยตามมา รวมทั้งค่ายรถยนต์ของจีน เช่น เนต้า และฉางอาน ซึ่งมีแผนที่จะว่าจ้าง ฟ็อกซ์คอนน์ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอยื่นรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเข้ามาสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย”
นายณัฐกรกล่าวว่า การที่ค่ายรถยนต์มีการหยุดรับจองรถชั่วคราวมาเกือบ 2 เดือนนั้น เกิดจากปัญหาการขาดแคลนชิปซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวี โดยบริษัทแม่ของแต่ละค่ายรถยนต์จำเป็นต้องกระจายรถยนต์ที่ผลิตแล้วส่งไปให้ลูกค้าในหลายประเทศ
ขณะที่ไทยมียอดจองรถอีวีรวมอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นคันในปัจจุบัน ดังนั้นหากปัญหาการขาดแคลนชิปยืดเยื้อเป็นปีก็จะกระทบต่อแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้การประกาศลดภาษีรถอีวีออกมาล่าช้า เนื่องจากต้องมีการทำกฎหมายลูกถึง 25 ฉบับ จึงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะสาระสำคัญเกี่ยวกับคำนิยามของรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ที่จะเข้าข่ายได้รับการสนับสนุนมาตรการภาษี และเงินอุดหนุนจากรัฐ ประกอบกับที่ผ่านมาอยู่ในช่วงการเปลี่ยนอธิบดีกรมสรรพสามิต ซึ่งจะต้องเป็นผู้ลงนามกฎหมาย จึงทำให้กระบวนพิจารณาชะลอออกไป
“กรณีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า เอ็มจี และเกรท วอลล์ มอเตอร์ ประสบปัญหาเรื่องการค้างส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าหลายพันคัน เนื่องจากรอประกาศกฎหมายลดภาษีสรรพสามิตอยู่นั้น เชื่อว่าหลังจากประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้แล้ว ปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายไปได้ โดยค่ายรถยนต์สามารถส่งมอบรถอีวีให้กับลูกค้า และจะได้รับการสนับสนุนด้านภาษีทันที” แหล่งข่าวกล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก ส.อ.ท.ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศจีนมีภาระภาษีเพียง 0% เพราะรับสิทธิจากข้อตกลงการเจรจาการค้าเอฟทีเอ จีน-อาเซียน ขณะที่หลายประเทศต้องเสียภาษี 40% ถือว่ามีความแตกต่างกันมาก
ดังนั้นจึงเตรียมที่จะนำเรื่องดังกล่าวหารือกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อหารือการปรับโครงสร้างภาษียานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังอีกครั้ง ทั้งนี้ มองว่าหากอัตราภาษียังคงเหลื่อมล้ำกันสูงมาก การจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนอาจจะไม่เกิดขึ้น
Source : ประชาชาติธุรกิจ