ส่วนลด EV ขยักที่สองมาแล้ว หลังกฎกระทรวงประกาศให้มีผลบังคับใช้ 8 มิถุนายน 2565 โดยรถที่เข้าโครงการรัฐบาลจะเสีย “ภาษีสรรพสามิต EV” ลดลงเหลือ 2% จากปกติ 8% ด้าน MG ZS EV ได้ส่วนลดเต็มที่ 246,000 บาท เหลือราคาขาย 1,023,000 บาท
วานนี้ (8 มิ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์-รถจักรยานยนต์ใหม่ ที่ยังคิดตามการปล่อยไอเสีย แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การรื้ออัตราโครงสร้างภาษีเดิมทั้งหมด และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ประกาศนี้ยังมี ภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ลดลงจาก 8% เหลือ 2% และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 ธันวาคม 2568
ตามประกาศนี้ ส่งผลให้ EV ที่เข้าร่วมโครงการรัฐบาล และเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมสรรพสามิตว่าต้องทำตามเงื่อนไขต่างๆ และมีแผนผลิตคืนในประเทศหลังจากปี 2567 จะได้ภาษีสรรพสามิต EV อัตราพิเศษทันที ซึ่งเบื้องต้นมีเพียง 3 ค่ายรถยนต์คือ เอ็มจี,เกรท วอลล์ มอเตอร์ และโตโยต้า โดยรายหลังยังไม่มี EV ขาย และต้องรอการเปิดตัว Toyota bZ4X ช่วงปลายปี 2565
ก่อนหน้านี้ เอ็มจี และเกรท วอลล์ มอเตอร์ สามารถดำเนินการในส่วนของการลดภาษีนำเข้า (ซึ่งค่ายจีนเป็น 0% อยู่แล้ว) และรับเงินสนับสนุน 150,000 บาทต่อคัน (กรณีที่แบตเตอรี่ความจุเกิน 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง) แต่การขายยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ เพราะรอประกาศเรื่องลดภาษีสรรพสามิต EV เพื่อจะได้ส่วนลดเต็มแพดานในกลุ่ม EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
ปัจจุบัน MG มียอดค้างส่งมอบ EV รุ่น MG EP และ MG ZS EV รวมกันกว่า 6,000 คัน โดยที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการรอส่วนลดเต็มๆ จากรัฐบาล และภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ เพิ่งประกาศเป็นกฎกระทรวงวานนี้ (8 มิ.ย.)
สำหรับ MG EP รุ่น PLUS ราคาปกติ 998,000 บาท เมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 150,000 บาท ต่อคัน รวมกับภาษีสรรพสามิต EV ที่ลดลงจาก 8% เหลือ 2% จะได้ส่วนลดเพิ่มเติมอีก 77,000 บาทสุดท้ายราคาขายเหลือ 771,000 บาท (ลดไป 227,000 บาท)
ขณะที่ MG ZS EV รุ่น X ราคาปกติ 1,269,000 บาท ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 150,000 บาทต่อคัน รวมกับภาษีสรรพสามิต EV ที่ลดลงอีกเป็นมูลค่า 96,000 บาท ทำให้ราคาขายเหลือ 1,023,000 บาท (ลดไป 246,000 บาท)
เหตุผลที่ภาษีสรรพสามิต EV อัตราพิเศษที่ให้สิทธิประโยชน์ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2568 ล่าช้าเพราะ กระทรวงการคลัง รอประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ในคราวเดียวกัน
ตามประกาศเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กําหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 โดยการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ส่งเสริมมาตรฐานด้านความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ที่มา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
Source : ฐานเศรษฐกิจ