ปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Nino) เริ่มต้นกันแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะขึ้นในระยะเวลายาวนานกว่า 15 เดือน ซึ่งความรุนแรงที่ประเมินกันไว้อยู่ในระดับสูง ถึงสูงมาก ซึ่งประเทศไทยในขณะนี้ได้มีการบริหารงานน้ำโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว กรรมการสมาคมนักอุทกวิทยาไทย ได้วิเคราะห์จากข้อมูลเอลนีโญ 72 ปี ความยาวนานที่เคยเกิดขึ้นจะไม่เกิน 19 เดือน และเมื่อเปรียบเทียบปรากฏการณ์เอลนีโญ กับวิเคราะห์ปริมาณฝนทั้งระดับประเทศ และรายภาค พบว่า ปี 2565 ตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.2565 ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าปกติแต่น้อยกว่าเดิมไม่มาก และปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้น ในเดือนส.ค.-ต.ค. ซึ่งในช่วงนั้นบางปี อย่างปีที่ผ่านมาฝนมากกว่าค่าปกติ
เอลนีโญ (El Nino) คืออะไร?
เอลนีโญ (El Nino) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแบบหนึ่ง ที่เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทาง โดยมีการพัดจากทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ไปยังทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลทำให้พื้นที่บริเวณทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนียประสบกับสภาวะแห้งแล้งขึ้น ในขณะที่ทวีปอเมริกาใต้จะเกิดฝนตกชุก หรืออธิบายง่ายๆ ได้ว่า ถ้าประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้น ประเทศไทยก็จะเกิดปัญหาความแห้งแล้ง หรือประสบปัญหาภัยแล้งนั่นเอง
ลักษณะของเอลนีโญ นั้นสามารถสรุปได้ดังนี้
- การอุ่นขึ้นผิดปกติของผิวน้ำทะเล
- กระแสน้ำอุ่นที่ไหลลงทางใต้ตามชายฝั่งประเทศเปรู
- เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นทางด้านตะวันออก และตอนกลางของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร
- ปรากฏตามชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ และเปรูเหนือ (บางครั้งประเทศชิลี)
- เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเล
- เกิดร่วมกับการอ่อนกำลังลงของลมค้าที่พัดไปทางทิศตะวันตกบริเวณแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร
- เวียนเกิดซ้ำแต่ช่วงเวลาไม่สม่ำเสมอ
- เกิดแต่ละครั้งนาน 15 – 19 เดือน
เอลนีโญ 2566 เกิดขึ้นนานแค่ไหน?
จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกมาเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญ พบว่าจะมีระยะเวลานาน 15 – 19 เดือน สำหรับในประเทศไทยมีการประกาศเอาไว้ว่าเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมานี้แล้ว และคาดว่าจะเกิดขึ้นแบบชัดเจนในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งทางหน่วยงานศูนย์ภูมิภาคอากาศสหรัฐอเมริกา ได้มีการคาดหมายเอาไว้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญในรอบนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 และจะมีระดับความรุนแรงมากในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2566 นี้ และค่อยๆ ลดความรุนแรงลงในช่วงต้นเดือนปีหน้าในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 และเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือนมีนาคม 2567
ขนาดของเอลนีโญ ก็จะแบ่งเป็นได้ 3 ระดับด้วยกัน
ขนาดรุนแรงมาก– ปริมาณฝนสูงมากที่สุด มีน้ำท่วม และเกิดความเสียหายในประเทศเปรู มีบางเดือนในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกใต้ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งสูงกว่าปกติมากกว่า 7oซ.
ขนาดรุนแรง – ปริมาณฝนสูงมาก มีน้ำท่วมตามบริเวณชายฝั่ง มีรายงานความเสียหายในประเทศเปรู มีหลายเดือนในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกใต้ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งสูงกว่าปกติ 3 – 5 oซ.
ขนาดปานกลาง – ปริมาณฝนสูงกว่าปกติ มีน้ำท่วมตามบริเวณชายฝั่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศเปรูอยู่ในระดับต่ำ โดยทั่ว ๆ ไปอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้จะสูงกว่าปกติ 2 – 3 oซ.
ผลกระทบ และแผนการรองรับในไทย
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรมากที่สุด เพราะมีการใช้น้ำมากที่สุด โดยในภาคเกษตรนั้นมีการใช้น้ำสูงถึง 40 – 60 % ของปริมาณการใช้น้ำในประเทศ ซึ่งในประเทศไทยเรามีการจัดการบริหารเรื่องน้ำแยกออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ น้ำบนฟ้า จะเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างแบบจำลองที่มีความแม่นยำสูงและเป็นที่ยอมรับ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นน้ำบนดิน จะเป็นหน้าที่ของทางกรมชลประทาน ซึ่งก็ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาจัดการเช่นกัน โดยจะเครื่องตรวจวัด มีการคำนวณการแปลงน้ำบนฟ้ามาเป็นน้ำบนดินออกมาเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และจะต้องมีการปล่อยน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรมากน้อยขนาดไหน โดยมีการประเมินโดยใช้เทคโนโลยีเอไอ ควบคุมการปล่อยน้ำในเขื่อน เพื่อปรับปริมาณการปล่อยน้ำที่จะเข้าสู่พื้นที่การเกษตรในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทางภาครัฐก็ได้มีการจัดการบริหารเรื่องน้ำมาโดยตลอด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรซึ่งใช้น้ำมากที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีการเรื่องของการสร้างคลองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้ได้ตลอดปีอีกด้วย รวมถึงในภาคเกษตรก็จะมีคำแนะนำเรื่องของการปลูกพืชแบบใหม่ที่มีการใช้น้ำน้อยให้กับทางเกษตรกรอีกด้วย เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามการจัดการบริหารน้ำนั้นก็จะสามารถช่วยทางภาคเกษตรได้ดีในเฉพาะบริเวณที่ใกล้แหล่งชลประทานเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคเกษตรที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งชลประทานก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก ไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน และในอนาคตอาจจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาเปลี่ยนน้ำเค็มจากทะเลมาเป็นน้ำจืดเพื่อนำมาใช้ในภาคเกษตรเพิ่มเติม แต่ในตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาหาข้อมูลเท่านั้น และยังไม่ได้มีการเปิดโครงการอย่างเป็นทางการสำหรับภาคเกษตรแต่อย่างใด
คำแนะนำในช่วงนี้ก็ให้ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรให้ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากทางภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็จะมีการเผยแพร่ข้อมูลให้ทราบอยู่ตลอด พร้อมคำแนะนำต่างๆ ส่วนประชาชนทั่วไป ตอนนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ที่ชัดเจน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีระบบการจัดการแหล่งน้ำที่ดีอยู่แล้ว ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็สามารถเตรียมการด้วยตัวเองได้ เช่น หาที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ด้วยตัวเอง โดยเมื่อฝนตกก็สามารถกักเก็บน้ำได้เองทันที โดยให้ประเมินการใช้น้ำของตัวเอง และกักเก็บตามความเหมาะสม
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา