รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดที่จะแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ในวันที่ 11-12 กันยายน 2566 นี้ โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการ คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม ให้แก่ประชาชน ซึ่งระบุว่าจะปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดก่อนได้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยปรับลดในส่วนของค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนผันแปร หรือที่เรียกว่าค่าเอฟที โดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ได้มีการพิจารณาให้ปรับลดลงค่าเอฟทีลงมาแล้ว ในงวดตั้งแต่เดือนกันยายน- ธันวาคม 2566 ประมาณ 25 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมลดลง จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากรัฐบาลเศรษฐาจะลดค่าไฟลงทันที ก็หมายความว่าจะลดลงเพิ่มจากที่มติ กกพ. เคยได้ปรับลดไปแล้ว
และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา จนถึง เมษายน 2566 เป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ช่วยแบกภาระส่วนต่างเอาไว้ก่อน เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน ทำให้ภาระที่ กฟผ. ต้องแบกต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชน นับตั้งแต่กันยายน 2564 จนถึงเมษายน 2566 เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง รวม 138,485 ล้านบาท
การแบกรับภาระแทนประชาชนดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน ของกฟผ. จนต้องมีการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง การขอขยายระยะเวลานำเงินส่งรัฐ การขอขยายเวลาชำระค่าเชื้อเพลิงให้ ปตท.
ดังนั้น ในการคำนวณค่าเอฟทีงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2566 กฟผ. จึงมีหนังสือแจ้ง กกพ. ว่า กฟผ. มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการทยอยคืนภาระที่ กฟผ. แบกต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชนดังกล่าว และไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชนได้อีก เนื่องจากจะส่งผลให้มีปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องได้รับการทยอยจ่ายคืนเงินส่วนที่ กฟผ. เคยแบกไว้ ตามงวดการจ่ายที่นำเสนอ กกพ. เป็นเงินประมาณ 23,428 ล้านบาท
นอกจากนั้น การคำนวณค่าเอฟทีโดยคาดการณ์ล่วงหน้า (ก.ย.-ธ.ค.2566) ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ตัวเลขต้นทุนเชื้อเพลิงจริงอาจจะสูงกว่าที่ กกพ. ใช้คำนวณ เพราะมีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้า LNG ราคาแพง มาทดแทนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่อาจจะมีปริมาณต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด
ซึ่งหากเป็นไปตามมติ กกพ. ในการคิดค่าเอฟทีงวดกันยายน-ธันวาคม 2566 ก็จะเหลือภาระต้นทุนจริงที่ กฟผ. ยังต้องแบกแทนประชาชนอีก จำนวน 111,869 ล้านบาท โดยเงินส่วนที่ได้รับนี้ กฟผ. จะนำไปใช้ในการบริหารสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ การชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้ และการจ่ายชำระค่าเชื้อเพลิงให้กับ ปตท.
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแนวทางพิจารณาลดค่าไฟทันทีตามนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาที่จะนำเข้าพิจารณาในการประชุม ครม. นัดแรก คือให้ กฟผ. แบกรับภาระหนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงไปก่อน โดยยังไม่ต้องขอรับการทยอยจ่ายคืนตามงวดที่เคยแจ้งต่อ กกพ. ดังนั้น หากรัฐบาลยังยืนแนวทางที่จะให้ กฟผ. แบกรับภาระ จนมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และกระทบต่อการชำระหนี้เงินกู้ การชำระค่าเชื้อเพลิง และการนำเงินกำไรส่งรัฐ
ที่ผ่านมา ผู้บริหาร กฟผ. ให้สัมภาษณ์สื่อสารไปยังประชาชนและรัฐบาล ว่าการแบกภาระต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับสูงขึ้นตามต้นทุนจริงในช่วงที่ผ่านมานั้น เหมือนกับลาที่แบกสัมภาระอันหนักอึ้ง จนหากมีใครวางเศษฟางลงบนหลังลาอีกเพียงเส้นเดียวก็อาจจะทำให้ลาตัวนั้นล้มลงได้
ทั้งนี้ยังไม่นับสัญญาณที่เป็นปัจจัยลบจากการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่อาจจะไม่มาตามนัด จากเป้าหมายที่ตั้งใจจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่สิ้นปีนี้แว่วว่ากำลังการผลิตจะทำได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่ามาทดแทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นกว่าตัวเลขที่ กกพ. คาดการณ์เอาไว้
ดังนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเศรษฐานัดแรกที่จะมีขึ้นหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งจะมีวาระการลดราคาพลังงานรวมทั้งค่าไฟฟ้าโดยทันที นั้น รัฐบาลจึงต้องมองถึงแนวทางอื่นๆ มาดำเนินการ เช่นการจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาช่วยเหลือผลกระทบค่าไฟฟ้า และช่วยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้เคยดำเนินการ เพราะหากให้ กฟผ. ยังต้องแบกรับภาระหนี้ที่หนักอึ้งเช่นเดิม กฟผ.ก็จะประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายคืนดอกเบี้ย และค่าเชื้อเพลิงได้ตรงตามเวลาที่กำหนด ยกเว้นว่ากระทรวงการคลังมีมาตรการอื่นใดที่จะมาช่วย กฟผ. แก้ปัญหาสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังที่นายเศรษฐานั่งควบเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่อีกตำแหน่ง ต้องไม่ลืมว่าการที่ กฟผ. ต้องกู้เงินเพิ่ม ก็คือจะเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ และหากสัดส่วนหนี้เงินกู้ของ กฟผ. สูงเกินไป ก็จะกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของ กฟผ. กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งในท้ายที่สุด ภาระทั้งหมดนี้ก็จะต้องถูกส่งผ่านไปที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ดี
นโยบายประชานิยมเรื่องค่าไฟที่มุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนในระยะสั้น แต่ใช้วิธีการซ้ำเติมฐานะการเงินของ กฟผ. ให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถลงทุนเพื่อคงบทบาทการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศได้ จะกลายเป็นผลเสียที่ตกอยู่กับประชาชนผู้ไฟฟ้า ที่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟต่อเนื่องไปในระยะยาว
Source : Energy News Center