News & Update

EGAT Grid Modernization เสถียรภาพพลังงานหมุนเวียนของไทย

ในยุคที่การบริโภคเปลี่ยนไป การใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ผลลัพธ์จากการใช้พลังงานมีหลายทิศทาง จึงเกิดการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ของหลาย ๆ ภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การดูแลรักษาสมดุลให้เกิดระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ในความต้องการใช้พลังงานที่หลากหลาย ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ทุก ๆ ความต้องการ? ในความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น ทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตพลังงานไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม? จึงเป็นที่มาของ “พลังงานหมุนเวียน” Renewable Energy (RE) ที่เป็นพลังงานสะอาด 

ทางด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานผู้ผลิตและดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จึงตอบรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตาม “แผนพลังงานชาติ” หรือ “National Energy Plan” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ โดยเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน RE ไม่น้อยกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเองใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง (Prosumer) ดังกล่าว

Grid Modernization สัมพันธ์กับพลังงานหมุนเวียนอย่างไร?

Grid Modernization คือการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม เป็นการร่วมกันพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Green Energy เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ของ กฟผ. ด้วย

ในขณะที่ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของคนไทยยังเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่าการใช้ไฟฟ้าไตรมาสแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ยังมีปริมาณสูงขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ประเมินยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยปี 65 แตะ 6.36 หมื่นคัน เช่นเดียวกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) และไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ที่คาดว่า จะสูงถึง 5.3 หมื่นคัน โตถึง 48% สวนทางกับกระแสรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง (Internal Combustion Engine: ICE) ที่หดตัวจากปี 2564 ถึง 8.8%

เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า  Grid Modernization จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยให้การทำงานของระบบส่งไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ดูแลระบบให้สามารถรองรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าในอนาคตเป็นพลังงานสีเขียวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้มีการขยายแผนงานและสร้างนวัตกรรมให้เกิดการใช้งานจริง หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้
  • มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เปรียบเสมือน Power Bank พลังงานสำรอง เข้าเสริมระบบเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ที่มีทั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) โดยนำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี
  • มีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า มีระบบส่งไฟฟ้าที่สื่อสารข้อมูลกับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะได้ และมีระบบการพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน Renewable Energy Forecast Center, Renewable Energy Control Centerการจัดตั้งศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response Control Center: DRCC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า
  • การพัฒนาสถานีไฟฟ้าแรงสูง Digital Substation เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ โดยเตรียมนำร่องเข้าใช้งานในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้า​แรง​สูง​กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ​ และสถานีไฟฟ้า​แรง​สูง​ตราด จ.ตราด
  • นวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน Virtual Power Plant (VPP) ทำหน้าที่เปรียบเสมือนศูนย์ควบคุมที่รวบรวมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกัน โดยอาศัยการคาดการณ์กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในกลุ่ม และสั่งการผลิตไฟฟ้าโดยนำเอาความได้เปรียบของคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละโรงไฟฟ้ามาเติมเต็มเสริมความมั่นคงซึ่งกันและกัน

และยังมีการจับมือร่วมกับ 3 การไฟฟ้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย เพื่อให้การลงทุนเป็นประโยชน์ที่สุดและไม่เกิดการทับซ้อนกันในการทำงาน ทั้งหมดเพื่อต้องการพัฒนารูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง สนองนโยบายตามแผนพลังงานแห่งชาติและดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนสมาร์ทกริดของประเทศไทย เพราะการผลิตไฟฟ้าต้องรักษาสมดุล และเสถียรภาพ กฟผ. จึงตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจร เพื่อคนไทยทุกคน พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Source : Energy News Center

เนื้อหาน่าสนใจ :  พลังงานหมุนเวียนบูมรับเศรษฐกิจ BCG บีโอไอเผย 5 ปี ลงทุนโรงไฟฟ้ากว่า 2 แสนล้าน

“ชยาวุธ” ชม หม้อแปลงใต้น้ำ Low carbon จัดระเบียบทัศนียภาพ ก้าวสู่ Net Zero Emission

“ชยาวุธ” ชม หม้อแปลงใต้น้ำ Low carbon จัดระเบียบทัศนียภาพ เสริมสร้างความปลอดภัย จัดการพลังงานสิ้นเปลือง ลดค่าไฟ ลดโลกร้อน…

เปิดต้นไม้ไทย 38 ชนิด ที่มีโอกาสส่งออกตลาดซาอุดิอาระเบีย

ก่อนหน้านี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แนะปลูกต้นไม้ 58 ชนิด ได้คาร์บอนเครดิตแถมช่วยโลก ซึ่งต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์…

“อาเซียน”เห็นชอบกรอบทำงาน การเงินและการคลังที่ยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank…

Leave a Reply