Dogen City หรือเมืองลอยน้ำ เป็นคอนเซ็ปต์ของสตาร์อัพจากญี่ปุ่นที่ได้ออกแบบเมืองใหม่ ที่ลอยอยู่บนน้ำ เพื่อต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษต่างๆ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสึนามิ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับเมืองในแบบปัจจุบันเป็นอย่างมาก
เมืองลอยน้ำนี้ มีขนาดใหญ่ในระดับที่รองรับผู้อยู่อาศัยได้กว่า 10,000 คน คิดค้นโดยบริษัทสตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า N-ARK ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบให้คำปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการเผยแพร่คอนเซ็ปต์และหน้าตาของเมืองลอยน้ำผ่านเว็บไซต์ พร้อมรายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วน สามารถดูข้อมูลได้ที่ https://www.n-ark.jp/en/dogen-city
สำหรับเมืองลอยน้ำนี้ ได้มีการโปรโมทออกมาว่าเป็น A Smart healthcare city on the ocean ที่ได้รวมเอาความเป็นอัจฉริยะด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดการอาหาร สถาปัตยกรรม ข้อมูล การจัดการด้านพลังงาน โดยเน้นเรื่องของการดูแลสุขภาพแบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิดใหม่ ที่มีการบริการและจัดการทุกระบบที่เกี่ยวข้องกับเมืองด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั่นเอง
ขนาดของเมืองจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 1.58 กิโลเมตร และมีขนาดของเส้นรอบวงประมาณ 4 กิโลเมตร รองรับผู้พักอาศัยได้ราวๆ 10,000 คน โดยระบบต่างๆ ในเมืองนั้นก็จะมีฟังก์ชั่นเหมือนเมืองขนาดใหญ่ทั่วไป แต่ว่าจะถูกออกแบบให้เหมือนกับหมู่บ้านขนาดเล็กๆ สามารถผลิตกระแสไฟต่อปีได้มากถึง 22 ล้านกิโลวัตต์ รองรับการใช้น้ำได้มากถึง 2 ล้านลิตรต่อปี สามารถกำจัดขยะได้ปีละ 3,288 ตัน และมีการผลิตอาหารได้มากถึง 6,862 ตัน
ตัวเมืองจะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ มากมายอาทิเช่น โรงงานผลิตอาหาร โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ห้องทดลอง โรงเรียน สนามกีฬา ศูนย์รักษาความปลอดภัย ฮอล์ขนาดใหญ่ สุสานและสถานที่ประกอบพิธีไว้อาลัย สถานีสื่อสาร ออฟฟิศ เกาะย่อยๆ พื้นที่ขายอาหาร เครื่องดื่ม และขายสินค้า และโรงแรม ซึ่งแต่ละสถานที่ก็จะมีการแบ่งสัดส่วนกันตามความเหมาะสม
โดยภาพรวมจะมีการแบ่งเป็น 3 ส่วนที่สำคัญหลักๆ ส่วนแรกจะเป็นพื้นที่ของการอยู่อาศัย ส่วนนี้จะถูกเรียกว่า RING หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ในรูปแบบวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองนั่นเอง ส่วนนี้จะมีการออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายกับเรือ มีส่วนเว้าส่วนโค้งเพื่อเป็นส่วนป้องกันให้กับพื้นที่ด้านใน รวมถึงช่วยป้องกันสึนามีได้อีกด้วย สำหรับส่วนที่สองจะเป็นส่วนของศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ที่จะถูกออกแบบให้อยู่ในน้ำทะเลที่มีความเย็น จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยลดพลังงานที่ใช้กับศูนย์ข้อมูล อย่างเช่นส่วนของระบบช่วยทำความเย็น เพราะปกติศูนย์ข้อมูลจะมีเครื่องเซิรฟ์เวอร์ที่ทำงานอยู่และเกิดความร้อนมากมายมหาศาลนั่นเอง สำหรับศูนย์ข้อมูลนี้ก็จะเป็นส่วนที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ City OS สำหรับการบริหารเมืองนี้ ทั้งเรื่องของการดูแลเมือง รวมถึงส่วนของการบริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ เป็นต้น
ส่วนสุดท้ายก็จะเป็นพวกอาคารที่ถูกออกแบบให้สามารถลอยน้ำได้ อยู่ด้านในของเมือง ซึ่งสามารถเคลือนย้ายได้ ปรับเปลี่ยนการจัดวางได้ใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างของเมืองเลย
สำหรับส่วนที่ทางผู้คิดค้นเน้นย้ำเป็นพิเศษของเมืองนี้ก็เห็นจะเป็นส่วนของการบริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ ซึ่งจะมีทั้งการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ มีการจัดการการรักษาแบบใหม่ทั้ง การบริการด้านสุขภาพแบบทางไกล คือ คุยกับหมอผ่านทางระบบสื่อสารแทนที่จะต้องเดินทางไปหาหมอ การนำหุ่นยนต์เข้ามาให้บริการ รวมถึงการใช้โดรนเพื่อประโยชน์ทางรักษา เช่น การนำส่งยา นอกจากนี้ยังมีส่วนของการค้นคว้าวิจัย มีธนาคารดีเอ็นเอ มีส่วนของการจำลองการใช้ยารักษาโรค ในส่วนของการรักษาก็จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมด ซึ่งรวมการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดอีกด้วย ก็เรียกว่าเปลี่ยนการรักษาแบบเดิมๆ ไปเลย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของเมืองลอยน้ำ ที่ทางทีมงานได้นำมาบอกเล่าให้ทราบกัน ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะเริ่มก่อสร้างเมื่อใด มีเพียงข้อมูลที่คาดการณ์ว่าจะมีการเปิดใช้งานราวๆ ปี 2030 ใครที่สนใจก็ติดตามข้อมูลอัพเดตได้ที่เว็บไซต์ของ N-ARK ได้เลยครับ หรือถ้ามีข้อมูลอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ทางทีมงานก็จะหยิบมาเล่าให้ฟังกันในครั้งต่อไปครับ