‘ดีป้า’ ชี้ ‘ดิจิทัล’ กุญแจสำคัญขับเคลื่อนความยั่งยืน องค์กรต้องปรับตัว แนะไทยเปิดกว้างต่างชาติลงทุนเทคโนโลยีในไทย ขณะที่ ‘ซุปเปอร์แนป’ หนุนธุรกิจใช้พลังงานสะอาดเพิ่ม ยกเคสดาต้าเซ็นเตอร์หลังใช้พลังงานหมุนเวียน ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 1.8 หมื่นตันต่อปี
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวภายในงาน “Innovation Summit Bangkok 2023 : Innovations for a Sustainable Thailand” จัดโดย “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” ในหัวข้อ Thailand transformation towards sustainability ว่า “ความยั่งยืน” เป็นความท้าทายของธุรกิจในปัจจุบัน ถือเป็นเป้าหมายใหม่ที่มีความท้าทายจากเดิม “ดิจิทัล” คือ ตัวที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจ แต่ปัจจุบันธุรกิจมีแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกเพิ่มคือ เรื่องความยั่งยืน เป็นสองเรื่องที่องค์กรธุรกิจกำลังเผชิญ
เขากล่าวว่า ความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เรื่องของกรีนเทคโนโลยี ส่วน “ดิจิทัล เทคโนโลยี” หรือ “ดิจิทัล อินโนเวชั่น” วันนี้ คือ กุญแจสู่ความสำเร็จของทุกคน เป็นเครื่องมือเข้าไปสนับสนุนกระบวนการทางธุรกิจ เช่น ด้านการตลาด ด้านการเงิน ด้านทรัพยากรส่วนบุคคล
“ความยั่งยืนคือ แรงผลักดันในการไปสู่เป้าหมายใหม่ของธุรกิจ วันนี้ ถ้าเรานำดิจิทัลไปขับเคลื่อนความยั่งยืน จะสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขันได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น”
ยุคแห่งบิ๊กดาต้าออโตเมชั่น
ปัจจุบันอยู่ยุคของ “บิ๊กดาต้า ออโตเมชั่น ดิจิทัลคอนเนค และดิจิทัล แอคเซส” ซึ่งทั้งหมดต้องให้ความสำคัญในเรื่องของซิเคียวริตี้ ยกตัวอย่าง บิ๊กดาต้า ต้องใช้เอไอในการประมวลผล มีเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนหนึ่งในเทคโนโลยีที่สนับสนุน บิ๊ก ดาต้า และเอไอ ขณะที่เครื่องจักรทั้งหมดก็จะถูกเปลี่ยนเป็นระบบโรโบติกส์ ที่ถูกเชื่อมต่อด้วย ไอโอที
ไม่เพียงแค่ บิ๊กดาต้า โรโบติกส์ เท่านั้น ในส่วนของ ดิจิทัล แอคเซส แน่นอนว่า ต้องให้ความสำคัญเรื่องการรักษาความปลอดภัยบนระบบคลาวด์ ดังนั้นกฎหมายในการกำกับดูแล จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เฉพาะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่รวมถึงความปลอดภัยของข้อมูลธุรกิจด้วย ความยั่งยืนเป็นเรื่องหนึ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ แต่เรื่องซิเคียวริตี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
“เรากำลังเชื่อมต่อกับโลกใหม่ ระบบซัพพลายเชนที่อยู่ในรูปของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน จากเดิม ดิจิทัล เป็นตัวที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจ แต่ปัจจุบันธุรกิจมีแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกเพิ่มคือ เรื่องความยั่งยืน เรียกว่า เป็นสองเรื่องที่ธุรกิจกำลังเผชิญและต้องให้ความสำคัญ”
ดึงบริษัทเทคโนโลยีลงทุนนวัตกรรมในไทย
นายณัฐพล กล่าวย้ำว่า เมื่อความยั่งยืนเป็นเป้าหมายใหญ่ องค์กรธุรกิจจึงต้องหันกลับมาสำรวจดูความพร้อม โดยเฉพาะเรื่อง “บุคลากร” ถ้าคนในองค์กรยังไม่รู้ว่าความยั่งยืนคืออะไร เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้อย่างไร ก็ยากที่จะไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จนั้น
“เรื่องความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของพนักงาน เป็นเรื่องการเพิ่มผลกำไร การเพิ่ม Productivity ดังนั้นองค์กรจึงต้องกลับมาดูความพร้อมในส่วนต่างๆ ของธุรกิจ เช่น เรื่องการตลาดก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน มีการทรานส์ฟอร์ม เพราะการตลาดก็เป็นหนึ่งในคีย์ซัคเซสของความยั่งยืน เรื่องเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องดูเรื่องของ return on investment สุดท้าย คือ เรื่องเทคโนโลยีการเลือกเทคโนโลยีมาสู่องค์กร”
นอกจากนี้ เขายังมองด้วยว่า ประเทศไทยควรเปิดกว้างดึงบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนพัฒนานวัตกรรมในไทย ซึ่งไทยจะได้รับองค์กรความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า ไทยไม่ได้มีเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้ ไม่มีเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแก้ pain point ในบางเรื่อง การเปิดกว้างให้เทคโนโลยีไหลเข้ามาในประเทศจะช่วยได้ โดยอาจแลกกับสิทธิประโยชน์ เช่น ถ้าบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีในไทย ก็จะมีการยกเว้นภาษีให้ เป็นต้น
ซุปเปอร์แนป หนุนใช้พลังงานสะอาด
นายแยป จิน ยี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทเองได้มีการนำพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานสะอาดมาใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้พลังงานสูงมาก ขณะเดียวกัน ยังสร้างการรับรู้เรื่องความยั่งยืนให้กับพนักงานในบริษัท ในเรื่องง่ายๆ เช่น การเปิด ปิดไฟ รวมถึงชี้ให้เห็นถึงความวิธีการใช้พลังงานที่ให้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ซุปเปอร์แนป ถือเป็นผู้นำในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ภายใน ดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะเดียวกัน ยังมีโซลาร์ฟาร์มสำหรับผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยได้บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เป็นผู้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ ซึ่งช่วยให้ซุปเปอร์แนป สามารถลดค่าไฟฟ้า และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 18,000 ตันต่อปี
Source: กรุงเทพธุรกิจ