สถาบันการเงิน ยังคงเดินหน้าสนับสนุนลูกค้าภาคธุรกิจสู่ “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ล่าสุด กสิกรไทย ลุยให้ความรู้ Decarbonize Now เจาะลึก 4 อุตสาหกรรมรวมกว่า 130 บริษัท และจะขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้ภาคธุรกิจจำเป็นอย่างมากในการตื่นตัวเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพราะกฎเกณฑ์ทั่วโลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ หากไม่ทำในอนาคตอาจส่งผลทำให้ธุรกิจของตนเองค้าขายกับต่างชาติได้ยาก โดยเฉพาะเรื่อง CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU
นอกจากภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวเองสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แบงก์ต่างๆก็แบงก์หนุนลูกค้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ อย่างเช่น แบงก์กสิกรไทย ที่เดินเครื่องผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกเต็มกำลัง ปรับการดำเนินงานภายในองค์กรทุกภาคส่วน พร้อมส่งเสริมลูกค้าปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วยการสนับสนุนทั้งเงินทุนและองค์ความรู้
ล่าสุดจัดงาน Decarbonize Now สัมมนาเชิงลึกให้กับลูกค้าธุรกิจ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมตลอดเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจส่งออกที่มีความเสี่ยงจากมาตรการ CBAM โดยมีลูกค้าเข้าร่วมงานกว่า 130 บริษัท ซึ่งลูกค้าจะได้รับความรู้เจาะรายอุตสาหกรรมพร้อมเวิร์กชอปคำนวณคาร์บอน และมีเครื่องมือคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ทดลองใช้ หวังให้ลูกค้าสามารถวางแผนและดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจได้จริง เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนำไปสู่ธุรกิจสีเขียว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้สำเร็จ โดยมีแผนจะขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าประกาศนโยบายและการดำเนินงานต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายประเทศไทย โดยเริ่มจากปรับการดำเนินงานภายในธนาคาร พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวด้วยการสนับสนุนเงินทุนและองค์ความรู้ แต่ธุรกิจไทยมากกว่า 98% ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากนักทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาแล้ว เช่น การประกาศ Thailand Taxonomy ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป ที่เริ่มมีการนำมาใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
แบงก์หนุนภาคธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียู ทำให้การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Decarbonization เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องตระหนักรู้ถึงโอกาสและความเสี่ยงต่อธุรกิจ เพราะหากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะทําให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้
โดยการให้ความรู้กับลูกค้าธุรกิจ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจส่งออกที่มีความเสี่ยงจากมาตรการ CBAM โดยมีลูกค้าเข้าร่วมงานกว่า 130 บริษัท ซึ่งลูกค้าจะได้รับความรู้เชิงลึกถึงแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมตามปัจจัยและเงื่อนไขเฉพาะของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยมีวิทยากรจากบริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาผู้ชำนาญการด้านก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะ มาให้ความรู้เชิงลึกที่ตอบโจทย์รายอุตสาหกรรม
รวมถึงกิจกรรมเวิร์กชอปคำนวณคาร์บอนของแต่ละธุรกิจ และวิธีลดคาร์บอน โดยมีเครื่องมือคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ทดลองใช้จริง ซึ่งหลังจบสัมมนาคาดว่าแต่ละบริษัทจะสามารถนำองค์ความรู้ไปคำนวณและวางแผนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บริษัทของตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนำไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้จริง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและคว้าโอกาสธุรกิจในอนาคต
นายพิพิธ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนลูกค้าให้ร่วมเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกับเรา ในปีหน้าธนาคารมีแผนที่จะจัดสัมมนาเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เรื่องการลดโลกร้อนเพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้แก่คนรุ่นหลัง เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกัน ธนาคารจึงเดินหน้าปรับการดำเนินงานในองค์กร และยินดีสนับสนุนให้ลูกค้า คู่ค้า ผู้ลงทุน และคนไทยทุกคนร่วมเปลี่ยนผ่านไปกับเรา เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยของเราสู่เป้าหมาย Net Zero ได้สำเร็จ
Source : Spring News