News & Update

วิจัยพบ ‘หมัดน้ำ’ กรอง ‘น้ำเสีย’ ให้สะอาด ได้ผลดีเทียบเท่าเครื่องดูดฝุ่น

“หมัดน้ำ” อาจเป็นฮีโร่กู้วิกฤติมลพิษแหล่งน้ำ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า พวกมันสามารถ “บำบัดน้ำเสีย” ได้ดี โดยเฉพาะการกรองได้ทั้งสารเคมี-ยาฆ่าแมลง แถมมีประสิทธิภาพสูงเหมือนใช้เครื่องดูดฝุ่นในน้ำเลยทีเดียว

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในสหราชอาณาจักร ได้ค้นพบความสามารถใหม่ของ “ไรน้ำ” หรือ “หมัดน้ำ” ในการบำบัดน้ำเสีย โดยพวกมันสามารถบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะการกรองสารตกค้างจากยา ยาฆ่าแมลง และสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมออกจากน้ำได้ ทำให้แหล่งน้ำมีความปลอดภัยมากขึ้น

ไรน้ำ = เครื่องดูดฝุ่นชีวภาพทำความสะอาดแหล่งน้ำ

งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment ซึ่ง คาร์ล เดิร์น (Karl Dearn) หนึ่งในทีมวิจัยเปิดเผยว่า มันเหมือนกับว่าพวกเขาได้ค้นพบเครื่องดูดฝุ่นชีวภาพสำหรับทำความสะอาดในน้ำได้ ซึ่งมันน่าตื่นเต้นมาก 

เขาบอกอีกว่า ที่ผ่านมาโรงบำบัดน้ำเสียตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่สามารถกำจัดมลพิษออกได้ทั้งหมด น้ำที่ถูกบำบัดเหล่านั้นจึงยังมีสารเคมีตกค้างอยู่ และมักถูกปล่อยลงตามแม่น้ำ ลำธาร และระบบชลประทานทันทีหลังบำบัด ซึ่งน้ำเหล่านั้นยังคงมีความอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศธรรมชาติ และสร้างมลพิษให้กับอาหารและน้ำดื่มของมนุษย์ 

ทั้งนี้ แม้จะมีโรงบำบัดทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถกรองน้ำเสียให้สะอาดบริสุทธิ์มากกว่านี้ได้ แต่ส่วนใหญ่มีราคาแพงมาก ทำให้หลายๆ โรงงานไม่ลงทุนในเรื่องนี้มากนัก อีกทั้งยังมีต้นทุนคาร์บอนสูง และอาจก่อให้เกิดมลพิษในตัวเองได้ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จึงอยากหาคำตอบว่า จะมีวิธีบำบัดน้ำเสียแบบอื่นๆ อีกไหม ที่สามารถบำบัดน้ำได้สะอาดมากที่สุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีต้นทุนต่ำ ในที่สุด.. พวกเขาก็ค้นพบว่า “ไรน้ำ” คือคำตอบ

ไรน้ำ หรือ หมัดน้ำ พวกมันไม่ใช่ตัวหมัดจริงๆ แต่เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ในสกุล Daphnia ซึ่งเป็นกลุ่มของสัตว์จำพวกครัสเตเชียน มีขนาดเล็กมากประมาณ 0.4 – 1.8 มิลลิเมตร ในธรรมชาติพบหมัดน้ำได้มากกว่า 450 สายพันธุ์ พวกมันกินอนุภาคเล็กๆ จากเศษซากสาหร่าย หรือแบคทีเรียต่างๆ ในแหล่งน้ำ จึงมีส่วนในการปรับสภาพน้ำให้สะอาดขึ้น

วิจัยพบ 'หมัดน้ำ' กรอง 'น้ำเสีย' ให้สะอาด ได้ผลดีเทียบเท่าเครื่องดูดฝุ่น

คัดเลือกหมัดน้ำ 4 สายพันธุ์มาทดลอง ซึ่งทุกสายพันธุ์ทำงานได้ดี

ด้านศาสตราจารย์ ลุยซา ออร์ซินี (Luisa Orsini) อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม และผู้ร่วมเขียนผลงานวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า การศึกษาครั้งนี้ค้นพบสิ่งสำคัญคือ ไรน้ำสามารถดูดซับสารเคมีในน้ำได้ โดยมีขั้นตอนการวิจัยคือ ทีมวิจัยเลือกไรน้ำมา 4 ชนิดที่คาดว่าสามารถดูดซับสารเคมีจากแหล่งน้ำได้ นำมาทดลองในการดูดซับสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ เช่น สารประกอบทางเภสัชกรรมไดโคลฟีแนค, ยาฆ่าแมลงอะทราซีน, สารหนูโลหะหนัก และสารเคมีอุตสาหกรรม PFOS ซึ่งมักใช้เพื่อทำให้เสื้อผ้ากันน้ำได้

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ “หมัดน้ำ” ที่แข็งแรงที่สุดสำหรับการทำวิจัย ทีมวิจัยจึงเพาะเลี้ยงหมัดน้ำขึ้นมาใหม่ ไม่ได้จับเอาจากธรรมชาติ และมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุด โดยคัดเลือกทั้งหมัดน้ำสายพันธุ์เก่าแก่และหมัดน้ำสายพันธุ์ใหม่ (หมัดน้ำแต่ละสายพันธุ์มีช่วงเวลาการเกิดในปีที่ต่างกัน เช่น หมัดน้ำสายพันธุ์ของปี 1900, 1960, 1980 และ 2015)

เมื่อได้หมัดน้ำที่แข็งแรงหลากหลายสายพันธุ์มาแล้ว ทีมวิจัยก็เริ่มทดลองความสามารถของพวกมันครั้งแรก ด้วยการนำลงใส่น้ำเสียในปริมาณ 100 ลิตร ผลการทดลองในห้องทดลองพบว่า พวกมันทุกสายพันธุ์ต่างก็ทำงานได้ดีในการกรองสารเคมี โดยหมัดน้ำดูดสารพิษไดโคลฟีแนคได้ 90%, สารหนู 60%, อะทราซีน 59% และ PFOS 50%

วิจัยพบ 'หมัดน้ำ' กรอง 'น้ำเสีย' ให้สะอาด ได้ผลดีเทียบเท่าเครื่องดูดฝุ่น

ไรน้ำอาจเป็น Gamechanger ของระบบโรงบำบัดน้ำเสียในอนาคต

หลังจากได้ผลการทดลองครั้งแรกแล้ว ทีมวิจัยก็ได้ขยับไปทดลองในโรงบำบัดจริงที่มีน้ำเสียมากกว่า 2,000 ลิตร และขั้นต่อไปก็ขยับสู่การทดลองบำบัดน้ำเสียจำนวน 21 ล้านลิตร ซึ่งผลการทดลองในพื้นที่กลางแจ้ง ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับห้องทดลอง นั่นคือ พวกมันทำงานได้ดีมาก เพราะการกำจัดสาร PFOS ได้มากถึง 50% นั้น ถือว่ายอดเยี่ยมมากเมื่อเทียบกับระบบบำบัดน้ำแบบเดิมที่หลายโรงงานใช้กันอยู่ตอนนี้

“ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยไรน้ำ อาจเป็น Gamechanger ของระบบโรงบำบัดในอนาคต ต่อไปอาจมีการวิจัยเพื่อตัดต่อยีนของพวกมันให้สามารถดูดซับสารพิษที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นได้ ส่วนตัวมองว่าความสามารถของพวกมันไร้ขีดจำกัด” โจเซฟ อาร์ ชอว์ (Joseph R Shaw) นักพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา กล่าวแสดงความคิดเห็น (ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้)

เขาบอกอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่หมัดน้ำจะเข้ามาปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากพวกมันมีความสามารถในการปรับตัว และมีชีวิตรอดในน้ำเสียได้ ทั้งยังควบคุมจำนวนประชากรของพวกมันเองได้ตามสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำ อีกทั้งยังมีราคาถูก มีความเป็นกลางทางคาร์บอน พวกมันจะมีประโยชน์กับระบบบำบัดน้ำเสียในอนาคตแน่นอน

——————————————
อ้างอิง : The GuardianScienceDirect

Source : กรุงเทพธุรกิจ

กบง. จ่อพิจารณาราคา LPG ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 423 บาท วันที่ 30 ก.ย. 2567

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมพิจารณาทบทวนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในวันที่…

Proton จับมือ Geely ตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทย อนาคตไทย EV Hub ของอาเซียน

Proton ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติมาเลเซีย และ Geely ค่ายรถจีน กำลังพิจารณาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์…

Leave a Reply