จากการที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP27) โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี ค.ศ. 2065
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. มีแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยหนึ่งในแผนงานที่สำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ด้วยการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น
ปัจจุบันเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ไทยมีจำนวนการปล่อยคาร์บอนปี 2022 สูงถึง 250 ล้านตัน หากจะลดคาร์บอนทั้งหมดจะต้องปลูกป่าถึง 160 ล้านไร่ แต่ประเทศไทยทั้งประเทศมีป่า 321 ล้านไร่ ซึ่งต้องเปลี่ยนประเทศครึ่งประเทศเป็นป่า
“ประเทศไทยมีการใช้พลังงานในภาคขนส่งและการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 75% แม้ภาครัฐจะใช้นโยบายที่จะขยับไปพลังงานหมุนเวียน แต่ต้นทุนการสร้างพลังงานที่ผลิตไฟฟ้ายังสูง ดังนั้น ระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้น การใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าในไทยยังสำคัญ แต่จะต้องทำให้สะอาดมากขึ้น ด้วยวิธีการแยกคาร์บอนไปจัดเก็บ”
ทั้งนี้ 4 สาระสำคัญสำหรับเป้าหมายการกักเก็บคาร์บอนระยะยาวของไทย คือ
1. Technology & Cost ซึ่งปัจจุบันแเทคโนโลยี CCS ยังมีต้นทุนสูง
2. Economic & Incentive หากจะส่งเสริมตลาดที่ยั่งยืน จะต้องสร้างเศรษฐกิจและแรงจูงใจที่มากพอ โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นโยบายคาร์บอนเครดิต
3. Environment & Public การลงทุน CCS สิ่งที่จะตามมาคือ สิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม
4. Regulation & Liability ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ยังไม่มีความชัดเจน
ทั้งนี้ ปตท.สผ. จะใช้ CCS เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสำหรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย โดยดำเนินการผ่านโครงการ Eastern CCS จะสามารถช่วย Decarbonize กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และ เหล็ก เป็นต้น โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่ใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
อย่างไรก็ดี พื้นที่ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการสำรวจทางธรณีวิทยาอย่างจริงจัง รวมถึงการเจาะหลุมสำรวจเพื่อศึกษาความเหมาะสมของชั้นหินปิดทับ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มาก มีความเสี่ยงสูง และเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้ต้องมีกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุน และ ระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจน
ทั้งนี้ โครงสร้างทางธรณีวิทยาของประเทศไทย มีความสามารถในการอัดกลับและกักเก็บคาร์บอนแตกต่างจากประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นการกักเก็บใน depleted reservoir หรือ saline aquifer ดังนั้น ปตท.สผ. จะผลักดันโครงการนำร่องการกักเก็บคาร์บอนในแหล่งอาทิตย์ (Arthit CCS) โดยวางแผนในการกักเก็บคาร์บอนทั้งหมดจากกระบวนการผลิตต้นน้ำ (Zero-flaring) โดยต้องใช้หลุมอัดกลับอย่างน้อย 7 หลุมที่เบื้องต้นใช้เงินลงทุนสูงราวประมาณ 400 ล้านดอลลาร์
แม้ว่าจะเป็นโครงการนำร่องจะสามารถใช้ facility ที่มีอยู่แล้ว มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายก็ตาม ดังนั้น ความชัดเจนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึง Incentivized mechanismต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เบื้องต้น ปตท.สผ. ตั้งเป้าโครงการนำร่องที่แหล่งอาทิตย์จะเริ่มจัดเก็บที่ 1 ล้านตันต่อปี จึงหวังว่าเมื่อภาครัฐเห็นความสำคัญถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ตามยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม (ONEP) กำหนดให้ CCS มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยของประเทศไทย ปตท.สผ. จึงตั้งเป้าหมายให้โครงการ CCS ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไคออกไซค์ ประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ในปี ค.ศ. 2050 และเพิ่มเป็น 60 ล้านต้นต่อปี ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งปัจจัยที่จะส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายนั่นคือทุกองค์ประกอบของการลงทุนCCS ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกฝ่าย
Source : กรุงเทพธุรกิจ