News & Update

พพ.เดินหน้าพร้อมใช้กฎหมาย BEC คุมอาคารใหม่ ดัดแปลง 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป

พพ.เดินหน้าพร้อมใช้กฎหมาย BEC คุมอาคารใหม่-ดัดแปลงขนาด 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ย้ำกระทบต้นทุนน้อย คืนทุนเร็ว คุ้มค่าระยะยาว ชูเป็นกฎหมายสำคัญช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคารอย่างน้อยร้อยละ 10 ลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,850 ตัน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ริเริ่มพัฒนา และผลักดันกฎกระทรวงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC เพื่อเป็นมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารดัดแปลง ที่มีการใช้พลังงานสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว

และคณะกรรมการควบคุมอาคารได้เห็นชอบการนำกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคาร เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับกับการควบคุมอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยจะเริ่มใช้บังคับกับอาคารขนาด 5,000 ตร.ม. ขึ้นไปก่อน และจะบังคับใช้กับอาคารขนาด 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยจะเริ่มใช้กับอาคารขนาดใหญ่ใน 9 ประเภท ได้แก่ (1) สถานศึกษา (2) สำนักงาน (3) อาคารโรงมหรสพ (4) อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า (5) อาคารสถานบริการ (6) อาคารชุมนุมคน (7) อาคารโรงแรม (8) สถานพยาบาล และ (9) อาคารชุด ที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารรวมกันในหลักเดียวกัน ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องออกแบบให้มีการใช้พลังงานในแต่ละส่วนที่กำหนดให้เป็นไปตามเกณฑ์การใช้พลังงานตามมาตรฐานขั้นต่ำ โดยให้มีผู้รับรองผลการประเมินด้านพลังงานที่ได้รับการรับรองจาก พพ. เป็นผู้รับรองข้อมูล เพื่อประกอบการยื่นตามขั้นตอนปกติในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ตามกฎหมายควบคุมอาคาร

นายประเสริฐได้กล่าวอีกว่า กฎหมาย BEC จะเป็นประโยชน์และเป็นกลไกสำคัญในการช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคาร โดยอาคารที่ออกแบบผ่านตามมาตรฐาน BEC จะประหยัดพลังงานได้ตั้งแต่ร้อยละ 10-20 ขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบอาคารและการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยป้องกันความร้อนได้มากหรือน้อยเพียงใด จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อย เฉลี่ยประมาณ 3-5% และคืนทุนไม่เกิน 3 ปี แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว

เนื่องจากอาคารมีอายุการใช้งานนาน 20-30 ปี ช่วยลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานที่ลดลง สร้างภาพลักษณ์องค์กรหรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญและใส่ใจด้านประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม สร้างธุรกิจผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานในอาคารเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น ยกระดับมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในประเทศ ยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพ และช่วยประเทศลดการนำเข้าพลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,850 ตัน

ทั้งนี้ พพ.ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้กฎกระทรวง ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยได้เปิดศูนย์ BEC Center เพื่อให้คําปรึกษาแนะนํา, ให้ความรู้แนวทางการออกแบบอาคารตามเกณฑ์มาตรฐาน BEC ให้กับเจ้าของอาคาร ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายวัสดุ/อุปกรณ์ สถาปนิก วิศวกร และผู้ที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 5,000 คน, ฝึกอบรมผู้ตรวจรับรองแบบอาคารให้กับวิศวกรและสถาปนิก

โดยจะมีผู้สำเร็จหลักสูตรและได้รับการรับรองจาก พพ.จำนวน 1,200 คน ในปี 2566, อบรมให้ความรู้ความเข้าใจแนวทางการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารตามเกณฑ์ BEC ให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปัจจุบันอบรมไปแล้วจำนวนกว่า 3,300 คนทั่วประเทศ, สร้างเครือข่ายส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบอาคารตามเกณฑ์ BEC ร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐมากกว่า 30 แห่ง, และจะดำเนินการมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน (BEC Awards) ให้แก่อาคารที่ผ่านการตรวจการประเมินแบบอาคาร และมีผลประหยัดสูงกว่าเกณฑ์ BEC (ร้อยละ 30 ขึ้นไป) ในปี 2566 รวมกว่า 140 อาคาร นายประเสริฐกล่าว

Source : ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาน่าสนใจ :  "พลังงาน" เร่งปตท.สผ.ผลิตก๊าซฯ อ่าวไทยเพิ่ม 800 ล.ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กดค่าไฟ

ส่องเงื่อนไข “สินเชื่อโซลาร์รูฟ ธอส.” ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เปิดเผยว่า ธอส. เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ "ติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์" หรือ Solar Roof…

กระทรวงพลังงาน หนุน 300 ครัวเรือนบนเกาะหมากน้อย พังงา มีไฟฟ้าใช้ 24 ชั่วโมงจากระบบโซลาร์เซลล์

300 ครัวเรือนบนเกาะหมากน้อย จังหวัดพังงา จะมีไฟฟ้าใช้และจ่ายค่าไฟถูกลงจากโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และโครงข่ายสายส่งขนาดเล็กภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพลังงานผ่านกลไกกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  เกาะหมากน้อย ขนาดพื้นที่รวม 9,500 ไร่…

Leave a Reply