ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบูม รับเทรนด์โลกสู่เศรษฐกิจ BCG บีโอไอเผยรอบ 5 ปี เอกชนไทย-เทศแห่ขอรับส่งเสริมแล้ว 1,290 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้าน ไตรมาส 1/65 ยังแรงไม่ตก ขอรับส่งเสริมกว่า 8 พันล้าน ม.หอการค้าฯ ชี้ผลพวงจาก 4 ปัจจัย หอการค้าไทยเชียร์ช่วยค่าไฟถูกลง
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) มีภาคเอกชนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นพลังงานสะอาด (พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือขยะชุมชน) 1,290 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจากนี้ไปจะเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่สำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ เข้าประเทศไทย
ทั้งนี้บีโอไอระบุทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของไทยในปีนี้ยังมีแนวโน้มดี มีปัจจัยสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับตัวในการอยู่กับโควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ รวมถึงมาตรการเปิดประเทศของไทย จะส่งผลดีต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะโครงการใหม่ ๆ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีเอกชนขอรับการส่งเสริม 506 โครงการ เงินลงทุน 75,061 ล้านบาท และในไตรมาสแรกปี 2565 ขอรับส่งเสริม 101 โครงการ เงินลงทุน 8,022 ล้านบาท
โครงการส่วนใหญ่สัดส่วนกว่า 80% ถือหุ้นโดยนักลงทุนไทย 100% รองลงมาเป็นโครงการร่วมทุนที่ไทยถือหุ้นข้างมาก ส่วนโครงการที่ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก มีจำนวนไม่มาก เช่น มีโครงการจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ และส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รองลงมาคือ ชีวมวล ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะชุมชน
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
“โครงการผลิตไฟฟ้าจะมี 2 แบบคือ ผลิตเพื่อใช้เอง กับผลิตเพื่อจำหน่าย โดยกรณีผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือจำหน่ายให้กับบริษัทในเครือ ปัจจัยหลักจากการลดต้นทุน ทั้งในส่วนของต้นทุนค่าไฟฟ้า หรือการนำเอาเศษวัสดุหรือของเสียจากโรงงานมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพหรือเอาเศษไม้ แกลบมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดทั้งปริมาณของเสีย ค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย และลดต้นทุนค่าไฟได้ด้วย”
ทั้งนี้จากเทรนด์โลกกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ บริษัทชั้นนำต่างตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และทำให้โลกร้อน รวมถึงยังยึดแนวทางความยั่งยืน หรือ ESG (Environment Social Governance-สิ่งแวดล้อม สังคม และการจัดการภาครัฐ) เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ และการออกไปลงทุนในต่างประเทศก็จะเลือกประเทศที่มีแหล่งพลังงานสะอาดเพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้นหนึ่งในทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจะเน้นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง เช่น กลุ่ม BCG(Bio-Circular-Green Industries) และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
4 ปัจจัยพลังงานหมุนเวียนบูม
ด้าน รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบูมมากในเวลานี้มาจาก 4 ปัจจัยหลักได้แก่
1.กระแสของภาวะโลกร้อนและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ (CO2) ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่ และเป็นนโยบายหลัก ทำให้ประเทศที่เป็นคู่ค้าของ 2 กลุ่มประเทศนี้ ต้องให้ความสำคัญไปด้วย รวมถึงจีนอีกหนึ่งคู่ค้าหลักของไทยก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้
2.การใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ปิโตรเลียมกำลังหมดไปจากโลกในเวลาไม่เกิน 40 ปี และการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นแหล่งสร้าง CO2 และภาวะโลกร้อน 3.แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบ BCG เป็นนโยบายหลักของทุกประเทศทั่วโลกที่เน้นการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน และ 4. ปัจจุบัน ESG เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศต่าง ๆ
อัทธ์ พิศาลวานิช
“เวลานี้ภาคการผลิต และส่งออกของไทยมีความตื่นตัวในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG แต่มีการตื่นตัวเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ ในขณะที่กลุ่ม SMEs ยังไม่มีการตื่นตัวเนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการเปลี่ยนแปลงในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไม่ตื่นตัวเรื่อง BCG จะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่มีนโยบายพลังงานหมุนเวียนแน่นอน ซึ่งในอนาคตอาจจะส่งไปขายไม่ได้ในตลาดดังกล่าว”
เชียร์พลังงานหมุนเวียนช่วยลดค่าไฟ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัจจัยที่โลกและไทยหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ส่งผลให้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่บูมมากเวลานี้ ส่วนหนึ่งผลจากทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน นำสู่การต่อยอดธุรกิจผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต
ขณะที่พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หินน้ำมัน ทรายน้ำมัน ฯลฯ เป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม กระทบเป็นวงกว้างต่อสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศของโลก ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกของการใช้พลังงานที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันยังส่งผลทางอ้อมทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น จากสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ช่วยสร้างงาน และกระจายรายได้ไปสู่ประชากรโดยไม่ทำลายวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชน และยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศลงได้
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
“ผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 ระบุปัจจุบันค่าไฟฟ้าและพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 10-20% ของต้นทุนการผลิต การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซ จะส่งผลกระทบมากต่อทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทยปัจจุบันมาจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราวร้อยละ 64 เชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ อย่างน้ำมันและถ่านหินรวมกันว่าร้อยละ 20 ซึ่งจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนส่งผลทำให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลในตลาดโลกมีแนวโน้มยืนตัวในระดับสูง ทำให้ค่าไฟของไทยยังมีทิศทางขาขึ้น ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนผ่านใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ จะทำให้ราคาพลังงานและค่าไฟของไทยถูกลง” นายวิศิษฐ์กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3789 วันที่ 5 – 8 มิถุนายน 2565
Source : ฐานเศรษฐกิจ