บ้านปู ขยับองค์กร ดึงคนรุ่นใหม่ “สินนท์ ว่องกุศลกิจ” นั่งแท่นซีอีโอ ขับเคลื่อนธุรกิจ ย้ำกลยุทธ์ “Greener & Smarter” สู่ Net Zero พร้อมทุ่ม 1.22 หมื่นล้านบาท ลุยพลังงานทดแทนและแบตเตอรี่ ทั้งในและต่างประเทศ
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ รองประธานอาวุโสกลุ่ม (Group Senior Vice President) และอดีตซีอีโอ บริษท บ้านปู เน็กซ์ จะขึ้นมานั่งในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู พร้อมทั้งนำทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ สานต่อภารกิจ “Greener & Smarter”
นายสินนท์ ร่วมงานกับบ้านปูมามากกว่า 10 ปี รับผิดชอบดูแลด้านการพัฒนาแผนกลยุทธ์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเป็นผู้บุกเบิกในการนำบ้านปู เพาเวอร์ เข้า IPO ในปี 2016 รวมทั้งการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจ Energy Technology มาอย่างต่อเนื่อง
สินนท์ ว่องกุศลกิจ รองประธานอาวุโสกลุ่ม (Group Senior Vice President) และอดีตซีอีโอ บริษท บ้านปู เน็กซ์
นายสินนท์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะเพิ่มดีกรีความเข้มข้น คือเรื่อง Decarbonization และ Digitalization โดยนำ AI เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในทุกธุรกิจที่มีอยู่ทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Energy Resources, Energy Generation และ Energy Technology ซึ่งกลุ่มเทคโนโลยี จะเน้นการเติมเต็มศักยภาพในฐานะ Net Zero Solutions Provider ของบ้านปู เน็กซ์
รวมทั้งการลงทุนในกลุ่ม Climate Tech ของกองทุนบริษัทฯ (Corporate Venture Capital: CVC) ที่ออกไปลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งกองทุนเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology)และเทคโนโลยีเทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Climate Technology) เพื่อยกระดับสู่ Greener & Smarter ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ของธุรกิจพลังงาน
สำหรับปื 2567 ได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.45 หมื่นล้นบาท(อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยครึ่งหนึ่งจะใช้ในการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีพลังงาน เช่น โซลาร์รูฟท็อป ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจแบตเตอรี่ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการขยายลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งทีมงานในการขับเคลื่อนธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป
ขณะที่ออสเตรเลีย และจีน จะลงทุนในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับที่ได้เข้าไปลงทุนที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate)ญี่ปุ่น กำลังกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 58 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปื 2568 ส่วนการลงทุน BESS บ้านปู เน็กซ์และดูราเพาเวอร์ ร่วมลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน มีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปื 2568
รวมถึงการร่วมทุนกับบริษัท เชิดชัยมอเตอร์เซลส์ และดูราเพาเวอร์ สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในไทย สำหรับ e-Bus ของบริษัทเชิดชัยฯ และตลาด EV ทั่วเอเชียแปซิฟิก กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2568
ทั้งนี้ การลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี กำลังผลิตราว 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเปิดสายการผลิตไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา ในรัฐเท็กซัสบ้านปูเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ และลงทุนในธุรกิจกักเก็บและใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS ) ขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการบาร์เนตต์ ซีโร่ และโครงการคอตตอน โคฟ ซึ่งดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการไฮเวสต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
สิ่งที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกา คือ บ้านปูกำลังทำ Premium Green Gas ผสมผสานก๊าซกับเทคโนโลยี CCUS เพื่อทำให้เป็น Net Zero Gas สนองความต้องการของตลาด Green Gas
ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี อยู่ระหว่างการศึกษาการใช้พลังงานแอมโมเนียและไฮโดรเจนมาผสมเป็นพลังงานสะอาดในโรงไฟฟ้า คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
รวมทั้งได้เริ่มนำรถบรทุกไฟฟ้าหรืออีวีทรัค มาใช้ในเหมืองถ่านหิน ของโรงไฟฟ้าหงสา ที่สปป.ลาวแล้ว และกำลังศึกษาในเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน
Source : ฐานเศรษฐกิจ