นักวิจัยออสเตรเลียเสนอวิธีผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทะเลที่ต้นทุนต่ำทำได้จริง ซึ่งอาจพลิกโฉมการใช้พลังงานของโลกในอนาคตได้
ก๊าซไฮโดรเจน เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญของพลังงานไฮโดรเจนอยู่ตรงที่ต้นทุนในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนยังคงมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าที่มาจากหลายแหล่งผลิต แต่ปัญหานี้อาจกำลังจบลง เมื่อนักวิจัยจากออสเตรเลียพบวิธีสร้างก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทะเลด้วยกระบวนการที่คุ้มทุนได้สำเร็จ
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนากระบวนการแยกก๊าซออกจากน้ำด้วยไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแยกองค์ประกอบสารทางเคมี แต่ในทางปฏิบัติก่อนหน้างานวิจัยนี้ ตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ที่เป็นสารประกอบกลุ่มโลหะมักมีปัญหาในด้านประสิทธิภาพจากการขึ้นสนิมในเวลาอันสั้น
แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอดิแลด (University of Adelaide) ได้ปรับปรุงตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ โดยใช้สารประกอบจากโคบอลต์ (Cobalt Oxide) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในโลหะทนความร้อน แล้วเคลือบด้วยโครเมียม (Chromium Oxide) ซึ่งนิยมใช้ชุบกันสนิม มาทำการแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทะเล
ศาสตราจารย์ซื่อจาง เชา (Shizhang Qiao) หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า “เราได้แยกน้ำทะเลธรรมชาติเป็นก๊าซออกซิเจนและไฮโดรเจนได้เกือบ 100% ด้วยตัวเร่งที่ประกอบด้วยสารหาง่ายและต้นทุนต่ำที่ใช้กันอยู่เชิงพาณิชย์”
ด้วยเหตุนี้ การแยกก๊าซไฮโดรเจนด้วยน้ำทะเลผ่านตัวเร่งปฏิกิริยาแบบใหม่นี้สามารถทำได้จริง ซึ่งทั้งโคบอลต์ (Cobalt) และโครเมียม (Chromium) ต่างเป็นแร่ที่พบได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมหนักและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงอาจเป็นใบเบิกทางสู่การสร้างโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนด้วยน้ำทะเลในอนาคตได้นั่นเอง
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ Pixabay
Source : TNN Online