News & Update

เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยประหยัดพลังงานได้จริงหรือไม่?

มีคำถามสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์ว่า บรรดาเทคโนโลยีขั้นสูงที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า (Big Data) วิทยาการหุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced Robotics) บล็อกเชน (Blockchain) ฯลฯ เหล่านี้จะมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการประหยัดพลังงาน หรือทำให้การใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากกว่าเดิม จนกลายเป็นที่ถกเถียงอยู่ไม่น้อย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านพลังงานชั้นนำของประเทศไทย สานต่อภารกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศใน 3 มิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม พาท่านสำรวจและตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นว่า เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ ช่วยประหยัดพลังงานได้จริงหรือไม่ ถ้าช่วยได้ จะช่วยประหยัดพลังงานอย่างไร

เทคโนโลยีขั้นสูงถูกนำมาใช้กับพลังงานด้านใดบ้าง เครือข่ายไฟฟ้าเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า กริดไฟฟ้า หรือ Grid Electrical หรือที่มักจะเรียกสั้นๆ ว่า “กริด” เป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆ ไปยังผู้บริโภค ประกอบไปด้วยสถานีผลิตพลังงานไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่นำส่งพลังงานจากแหล่งผลิตที่ห่างไกลให้กับศูนย์ที่ต้องการใช้ และสายกระจายแรงต่ำที่เชื่อมต่อลูกค้าแต่ละราย หรือแต่ละบ้านนั่นเอง

กริดเหล่านี้เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อน ฉะนั้น การควบคุมหรือต้องการการตัดสินใจอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จะต้องทำด้วยความรวดเร็วในแบบเรียลไทม์ ลองนึกถึงการใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ที่มีการแบ่งเป็นเขตย่อยๆ จำนวนมาก ทันทีที่มีเหตุหม้อแปลงระเบิด (สำเพ็งก็เพิ่งเกิดเหตุไปเมื่อไม่นานมานี้) การควบคุมกริดจำนวนมากที่รวมกันเป็นข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า จะต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ชั้นยอดที่ต่อมาพัฒนากลายเป็น AI ที่ใช้เพื่อการควบคุมแทนมนุษย์ AI ที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้จะควบคุมอัลกอริทึมของระบบกริด สามารถตอบสนอง วิเคราะห์ และจัดการกริดได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นประสิทธิภาพในการควบคุม ตัดระบบหรือโซนที่เกิดอุบัติเหตุ หรือควบคุมปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ส่งไปนั้น สามารถทำให้เราใช้พลังงานที่เหมาะสมได้

ในภาคพลังงานหมุนเวียน AI ยังสามารถวิเคราะห์ คาดการณ์การใช้พลังงาน และช่วยในการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ของแหล่งพลังงานหมุนเวียน เราจึงได้เห็นแอปพลิเคชันด้านพลังงานหลายๆ แอปที่สามารถช่วยคาดการณ์ปริมาณพลังงานของกริด กำหนดราคาและดำเนินการซื้อขายได้ตามเวลาโดยอัตโนมัติ นวัตกรรมอย่าง AI จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากทีเดียว

นอกจาก AI แล้ว วิทยาการหุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced Robotics) อาทิ โดรน ยังถูกนำมาใช้ในควบคุมพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท ตัวอย่างที่ชัดเจนมากก็คือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ต้องอาศัยแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก และประสิทธิภาพสูงสุดจะเกิดขึ้นได้เมื่อแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากเหล่านั้นอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม หุ่นยนต์ขั้นสูงจะเข้ามามีบทบาทในการปรับทิศทางอัตโนมัติเพื่อเพิ่มการแปลงพลังงานให้สูงสุด นอกจากนี้การทำงานอัตโนมัติ และการบำรุงรักษา (O&M) ที่ใช้หุ่นยนต์เป็นฐานรองรับการทำงานซ้ำๆ ที่เสี่ยงอันตรายจะช่วยปรับปรุงความปลอดภัยและประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่าการใช้แรงงานมนุษย์ เราจึงได้พลังงานทดแทนที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อีกหนึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกนำมาใช้ในด้านพลังงานก็คือ การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อพัฒนาธุรกรรมที่เชื่อถือได้ในภาคพลังงานหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น สัญญาอัจฉริยะที่ถูกนำมาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ล่วงหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการวางแผนการผลิตพลังงานระยะยาว เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่พอเพียงและเหมาะสม

นอกจากนี้ บล็อกเชนยังถูกนำมาใช้ในการควบคุมความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ลองนึกถึงหนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่วายร้ายพยายามแฮกระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อป่วนเมืองด้วยการทำให้ระบบไฟฟ้าในเมืองดับเพื่อก่อวินาศภัย) บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งใช้เพื่อเข้ารหัสข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกริด และมีการตรวจสอบด้วยการเข้ารหัสข้อมูลที่ซับซ้อน ทำให้การแฮกระบบทำได้ยากมากถึงมากที่สุด ที่สำคัญ บล็อกเชนยังช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางดิจิทัล โดยผู้ให้บริการพลังงานหมุนเวียนสามารถใช้บล็อกเชนเพื่อติดตามห่วงโซ่การดูแลวัสดุกริดในที่ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสามารถเข้าถึงข้อมูล และควบคุมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่า “เทคโนโลยีขั้นสูง” หลายๆ เทคโนโลยี แม้จะไม่ได้เข้ามาช่วยในการประหยัดพลังงานโดยตรง แต่เราสามารถนำมาใช้ในการช่วยควบคุมการใช้พลังงานให้เหมาะสม ก่อให้เกิดการเตรียมวางแผนการผลิตพลังงานที่เพียงพอให้เราใช้ได้ตลอดไป

Source : ไทยโพสต์

เนื้อหาน่าสนใจ :  ร้อนไม่เว้นวันหยุด พีคไฟฟ้าพุ่งรอบที่ 3 ของปี 2566 ถึง 32,963 เมกะวัตต์ จ่อทุบสถิติใหม่ของประเทศ

ไฮโดรเจน พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ เร่งไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

"ไฮโดรเจน" กำลังเป็นกระแสพลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งทั่วโลกอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้งานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และเริ่มมีการนำมาใช้ในภาคการขนส่งของไทย ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมาย Net Zero นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี…

‘ปรัชญาธุรกิจ CRC CARE ‘ ดัน ‘เซ็นทรัล รีเทล’ ลุยความยั่งยืนสังคม-สิ่งแวดล้อม

เซ็นทรัล รีเทล ผู้นำค้าปลีก-ค้าส่งในไทย เวียดนาม และอิตาลี ที่มุ่งสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมมาโดยตลอด ผ่านกลยุทธ์ CRC ‘ReNEW’ โดยมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในปี…

ปตท. ลงนาม MOU ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ซีพีพี ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายณรงค์ไชย ปัญญไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction…

Leave a Reply