สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเสนอ 5 นโยบายด้านพลังงานต่อรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ทั้งการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันรองรับมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2567, แนวทางการเป็น LNG Hub ในภูมิภาคอาเซียน ,การส่งเสริมการใช้รถ EV, การส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจน และใบรับรองการซื้อไฟฟ้าสีเขียว หวังช่วยให้ไทยลดปัญหามลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. เตรียม 5 นโยบายด้านพลังงานเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ได้แก่ 1.โครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้น้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศไทยต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานยุโรป 5 หรือ ยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป จากปัจจุบันใช้มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่จะส่งผลดีในด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สนพ. จึงได้ทำการศึกษาทั้งโครงสร้างราคาน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 รวมทั้งค่าการตลาดและต้นทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จปลายปี 2566 นี้ เพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ให้ทันก่อนที่มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ต่อไป
2.โครงการจัดทำแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายและขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (Regional LNG Hub ) โดย สนพ. กำลังศึกษาแนวทางการเป็น LNG Hub ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ไทยควรเริ่มดำเนินการจากระดับกระบวนการขนส่ง LNG (LNG Logistic) ก่อน โดยเตรียมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่ง การส่งเสริมทางด้านภาษี การสร้างแรงจูงใจให้เกิด LNG Hub ต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันไทยมีการซื้อขาย LNG กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว แต่ต้องพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ของภูมิภาคอาเซียนให้ได้ โดยกำลังศึกษาทั้งรูปแบบการซื้อขาย LNG ที่เกิดขึ้นจริง หรือ การซื้อขายแบบตลาดน้ำมันดิบ หรือ การซื้อขายแบบตลาดอนุพันธ์
3. การส่งเสริมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยในส่วนของกระทรวงพลังงานจะดูในเรื่องสถานีอัดประจุไฟฟ้า(ปั๊มชาร์จ) โดยตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ.2030 จะต้องมีปั๊มชาร์จแบบชาร์จเร็ว ในสัดส่วน 5% หรือประมาณ 2,000-4,000 สถานี รวมทั้งต้องเตรียมด้านปริมาณไฟฟ้าเพื่อรองรับรถ EV เนื่องจากคาดว่าในอนาคต 5-6 ปีข้างหน้า ไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ช่วงกลางคืน เนื่องจาก 80% ของรถ EV จะชาร์จไฟฟ้าจากที่บ้าน ดังนั้นกระทรวงพลังงานจะศึกษาข้อมูลเพื่อให้ทราบความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรองรับรถ EV และเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ
4.นโยบายการส่งเสริมไฮโดรเจนของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ Carbon Neutrality ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สนพ. ได้ทำการศึกษารูปแบบไฮโดรเจนเพื่อนำมาใช้จริง ในกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มโรงงานที่ใช้ความร้อน และภาคขนส่ง เบื้องต้นเห็นว่าไทยควรใช้ระบบนำก๊าซธรรมชาติมาแยกออกซิเจนเพื่อให้ได้ไฮโดรเจน โดยคาดว่าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่จะมีสัดส่วนไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้า 20% จากเชื้อเพลิงทั้งหมด เบื้องต้นจะให้ภาครัฐเป็นผู้นำร่องกระบวนการเพื่อให้เกิดการใช้เชิงพาณิชย์ก่อน จากนั้นจะส่งเสริมภาคเอกชนต่อไป
และ 5. นโยบายเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กลไก Renewable Energy Certificates (RECs) สำหรับประเทศไทย หรือ การให้ใบรับรองแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนสำหรับประเทศไทย ซึ่งตามแผนพลังงานแห่งชาติ จะบรรจุการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือ ไฟฟ้าสีเขียวให้มากขึ้น ซึ่งการซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องได้รับใบรับรองเพื่อใช้ยืนยันทางการค้าว่าได้ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และป้องกันการกีดกันทางการค้าในอนาคต ซึ่งในระยะยาวตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จะต้องมีการพัฒนาระบบติดตามและกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรม RECs ให้สมบูรณ์, ประกาศใช้มาตรฐานการรับรอง RECs ของไทยและปรับปรุงแนวทางการซื้อไฟฟ้าสีเขียว เป็นต้น
โดยทั้ง 5 หัวข้อดังกล่าว ทาง สนพ.ได้ศึกษาและเตรียมนำเสนอกับรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดการนำมาใช้จริง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
Source : Energy News Center