News & Update

ทำไม “แอฟริกา” ถึงเป็นทวีปที่มีศักยภาพด้าน “พลังงานแสงอาทิตย์” มากที่สุดในโลก

สถิติจากรายงาน Global Solar Atlas ที่จัดทำให้กับธนาคารโลก เผยให้เห็นศักยภาพโดยเฉลี่ยของพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก พบว่าทวีป “แอฟริกา” นำหน้าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เมื่อรวมผลผลิตโดยเฉลี่ยในระยะยาวของการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดสาธารณูปโภคในแต่ละประเทศ

ค่าผลผลิตประจําวัน 4.51 kWh/kWp/วัน ของแอฟริกานั้นแซงหน้า 4.48 kWh/kWp/วัน ของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่ตามมาในอันดับที่ 2 ในขณะที่อเมริกาเหนือตามมาเป็นอันดับที่ 3 ที่ 4.37 kWh/kWp/วัน ส่วนอันดับ 4-6 ได้แก่ เอเชีย (4.33 kWh/kWp/วัน), โอเชียเนีย (4.14 kWh/kWp/วัน) ยุโรปและรัสเซีย (3.44 kWh/kWp/วัน) ตามลำดับ

แผนที่แสดงศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ พบว่าแอฟริกายืนหนึ่งในด้านนี้

ทั้งนี้ การประเมิน “ไม่รวมพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ/ทางเทคนิค เช่น ภูมิประเทศที่ขรุขระ พื้นที่ในเมือง พื้นที่อุตสาหกรรม ป่าไม้ และพื้นที่ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางของกิจกรรมของมนุษย์” แต่ไม่ถือรวมพื้นที่ที่อาจไม่เหมาะสมเนื่องจากกฎระเบียบที่กำหนดโดยหน่วยงานระดับชาติหรือระดับภูมิภาค เช่น การอนุรักษ์พื้นที่เพาะปลูกหรือการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น

ภายใต้บริบทและเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าประมาณ 20% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ใน 70 ประเทศที่มี “สภาวะที่ดีเยี่ยม” สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งหมายถึงมีผลผลิตระยะยาวที่เกิน 4.5 kWh/kWp ต่อวัน เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาคหรือทวีปพบว่ามีเพียงประเทศในแอฟริกาโดยเฉลี่ยที่อยู่เหนือเกณฑ์นี้

ทั้งนี้ ศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีอยู่อีกมากและยังไม่ถูกนำมาใช้ในประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าประเทศอื่นในทวีปนี้ นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญในการจัดหาบริการไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพง เชื่อถือได้ และยั่งยืนแก่มนุษยชาติจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพของชีวิตประชากรโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในปัจจุบันไม่มีไฟฟ้าใช้ และประชากรที่มีไฟฟ้าใช้ก็แบกรับค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเกือบสองเท่าของผู้บริโภคไฟฟ้าที่อยู่ในภูมิภาคอื่นของโลก ปัญหาการขาดแคลนพลังงานทำให้ทวีปนี้เสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 2-4ของจีดีพีต่อปี และความต้องการไฟฟ้าจำนวนมากจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากคาดว่าประชากรในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราจะเพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านคนในปี 2018 เป็นมากกว่า 2 พันล้านคนในปี 2050 เป็นเหตุให้คาดว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี

แหล่งพลังงานในปัจจุบันของแอฟริกาส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพลังงานผสมในแอฟริกาในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และชีวมวลแบบดั้งเดิม (ไม้ ถ่าน และเชื้อเพลิงจากมูลสัตว์แห้ง) แม้ว่าพลังงานเหล่านี้จะค่อนข้างถูก แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน และส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นแหล่งพลังงานของทวีปนี้จะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลประเทศต่างๆ ในแอฟริกาตั้งเป้าที่จะบรรลุสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพสำหรับพลเมืองของตน และบรรลุขีดจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดโดยความตกลงปารีสปี 2015 และนั่นหมายความว่า “พลังงานแสงอาทิตย์” ทุนพลังงานที่มีอยู่มหาศาลโดยธรรมชาติของทวีปนี้จะต้องได้รับการลงทุนอย่างจริงจังและถูกนำไปใช้ให้ทั่วถึงและครอบคลุมทั่วทั้งแอฟริกามากขึ้น

พลังงานแสงอาทิตย์แอฟริกา

การจัดหาเงินทุนนับเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนี้ การสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นค่อนข้างมีต้นทุนที่ถูกแต่มีค่าการดำเนินการสูง ในทางตรงกันข้าม แหล่งพลังงานหมุนเวียนมีราคาไม่แพงในการดำเนินการ แต่มีต้นทุนการติดตั้งสูง ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินล่วงหน้า การจัดหาพื้นฐานด้านพลังงานคุณภาพสูงสำหรับการพัฒนาในแอฟริกาจึงต้องการแนวทางที่ครอบคลุมในการจัดหาเงินทุน หากแอฟริกาต้องการใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาจะต้องระดมเงินทุนจากทั้งภาครัฐ เอกชน เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการจากพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่หนุนให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในทวีปนี้ก็คือ แอฟริกาได้รับแสงแดดจ้าในช่วงเวลาของปีมากกว่าทวีปอื่นๆ ของโลกเป็นเวลาหลายชั่วโมง สถานที่ที่มีแดดจัดมากที่สุดในโลกอยู่ที่ภูมิภาคนี้ แม้จะมีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในโลก และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือนชาวแอฟริกันอย่างแพร่หลาย แต่บทบาทของพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคพลังงานของแอฟริกายังไปได้ไกลกว่านี้

ทั่วทั้งทวีปนี้มีแสงแดดส่องเป็นเวลานาน (ไม่รวมพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่อย่างป่ากินีของแอฟริกาตะวันตกและส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำคองโก) เนื่องจากพื้นที่ทะเลทรายและทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกาเป็นพื้นที่ปลอดเมฆที่ใหญ่ที่สุดในโลก แอฟริกามีท้องฟ้าแจ่มใสเหนือทะเลทราย อาทิ ทะเลทรายซาฮารา นามิบ และคาลาฮารี

พลังงานแสงอาทิตย์แอฟริกา

ทะเลทรายซาฮาราตะวันออก/แอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือมีชื่อเสียงในด้านสถิติแสงแดดของโลก โดยเฉพาะ กับการที่พื้นที่นี้ประสบกับแสงแดดจ้าตลอดทั้งปีโดยเฉลี่ยมากที่สุด โดยดวงอาทิตย์ส่องแสงประมาณ 4,300 ชั่วโมงต่อปี จากจำนวนวันที่แสงแดดส่องถึงทำให้สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปสู่แอฟริกาได้มากโดยไม่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านกริดขนาดใหญ่

การที่ภูมิศาสตร์​ของแอฟริกาตั้งอยู่ในเขตเขตร้อน ซึ่งความเข้มและความแรงของแสงแดดจะสูงอยู่เสมอ มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งที่มีแสงแดดส่องถึงจำนวนมากทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก

ทำให้ประมาณ 2 ใน 5 ของทวีปนี้มีภูมิประเทศเป็นทะเลทราย และมีแดดจัดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม คองโก อิเควทอเรียล กินี กาบอง รวันดา ยูกันดา บุรุนดี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและเซเนกัล เป็นประเทศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์น้อยที่สุดในทวีปนี้ เนื่องจากมีเมฆปกคลุมเกือบถาวรและ มีเพียงแสงแดดสดใสเป็นพักๆ

ยกเว้น 8 ประเทศนี้ แต่ละประเทศในแอฟริกาได้รับแสงแดดจ้ากว่า 2,700 ชั่วโมงต่อปี (อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งของอาณาเขตของตน) โดยหลายประเทศในแอฟริกาที่มีแดดตลอดเวลาอย่างอียิปต์ ลิเบีย แอลจีเรีย ไนเจอร์ซูดาน แอฟริกาใต้ และนามิเบีย สามารถพึ่งพาการพัฒนาแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมหาศาลของตัวเองได้ จากการลงทุนในขนาดที่ใหญ่และราคาที่ลดลง

Source : SALIKA

เภสัชจุฬาฯ – อินโนบิก เปิดตัว “Innobic Pro Beta-Glucan+” ต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ประกาศความสำเร็จการทำงานภายใต้แนวคิด Open Innovation…

“โลกเดือด” เตรียมทางรอด “เอลนีโญ” กระทบไทย

“โลกเดือด” ได้เข้ามาเเทนที่ "โลกร้อน" ขณะที่ประเทศไทย เร่งรับมือ เตรียมทางรอดสำหรับ "ปรากฎการณ์เอลนีโญ" ที่กระทบไทย ยุค “โลกเดือด” หรือ Global Boiling กำลังเข้ามาแทนที่…

‘ททท.’ จับจังหวะตลาด ‘รถEV’ โต หนุนเพิ่มโอกาสท่องเที่ยวไทย

ททท.ชี้ตลาดรถอีวีเติบโตในไทยช่วยหนุนการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ชี้พฤติกรรมคนหันมาใช้รถอีวีในการขับท่องเที่ยวมากขึ้น แนะภาครัฐเพิ่มการปรับปรุงถนน อบรมอู่ ช่างซ่อมแต่ละพื้นที่ให้ซ่อมรถอีวีเบื้องต้นได้ ชี้ช่วยหนุนท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สร้างอาชีพ นางสาวสมฤดี จิตรจง…